ข้อแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากได้ทุนไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น

กระทู้จากหมวด 'ETC' โดย ffpokemon, 6 กันยายน 2012.

  1. ffpokemon

    ffpokemon Editor

    EXP:
    1,691
    ถูกใจที่ได้รับ:
    79
    คะแนน Trophy:
    113
    ผมเชื่อว่าการได้ไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นนั้นคงเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งของสาวกไฟนอล ฯ หลาย ๆ คน
    ที่จริงมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่คนชอบเล่น JRPG ชอบดูอะนิเมะ ชอบอ่านมังงะจะไปเรียนต่อที่นั่น
    ซึ่งคนไทยอย่างเราที่อยากไปเรียนเมืองนอก ถ้าสเด็จพ่อเสด็จแม่ไม่รวยจริงก็คงอยากได้ทุน มากกว่าจะควักตังจ่ายค่าเล่าเรียนเองอยู่แล้ว

    ตอนนี้ผมเองเรียนจบโทจากจุฬา ฯ และเพิ่งจะได้ทุน Yoshida Scholarship Foundation เพื่อไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นในปีหน้า ก็เลยอยากมาแบ่งปันให้น้อง ๆ ในเว็บนี้ที่สนใจไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นได้ลองอ่านดูครับ

    ถ้าบางคนอ่านแล้วหมั่นไส้ ดูเหมือนว่าผมขี้อวดก็ขออภัยนะครับ ผมก็กะมาอวดจริง ๆ แหละ ทั้ง ๆ ที่ผมก็รู้ดีว่าผมเองก็เก่งไม่ถึงครึ่งของใครหลายคน แต่ผมก็ภูมิใจในสิ่งที่ผมเป็นและทำได้ครับ ขอซักกระทู้ให้ผมโม้เถอะ :E

    1. เล่นไฟนอล ฯ อย่างมีสมอง
    พวกเราทุกคนเล่นเกมเพื่อความบันเทิงเป็นหลักอยู่แล้ว แต่ผมก็อยากให้น้อง ๆ ได้อะไรมากกว่าความสนุกในการเล่นเกมด้วย ความจริงแล้วเกมตระกูล FF และอีกหลาย ๆ เกมนั้นเป็นเกมที่จริงจัง และทำให้เราเรียนรู้เรื่อง ภาษา คณิตศาสตร์ วรรณคดี พื้นฐานการทดลองทางวิทยาศาตร์ ฯลฯ ได้ถ้าเรารู้จักเล่นมันให้เป็น คำถามง่าย ๆ ที่เราควรจะถามตัวเองเวลาเล่นเกมก็เช่น

    - เวลาเจอศัพท์ที่เราไม่รู้จักในเกม เราไปเปิดดิกชันนารี หรือแค่กดข้ามไป ?
    - เราเคยเล่นเกมแล้วเกิดแรงบันดาลใจ ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมาหรือเปล่า ?
    - เทคนิคในเกมต่าง ๆ เราได้รู้จักทดลอง ลองผิดลองถูกเอง หรือแค่เปิดเน็ตแล้วจำเทคนิคเขามา ?

    อยากจะแบ่งปันให้ฟังว่า เคยมีคนในเว็บนี้ที่เล่นไฟนอล ฯ แล้วตั้งใจศึกษา จนตอนเรียนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนอ่านคำปราดเดียวรู้เรื่อง เก่งกว่าเพื่อนจนครูชมว่าตั้งใจท่อง (ที่แท้คือขยันเล่นเกม :D)

    ตัวผมเองเล่นแต่เวอร์ชันอเมริกาก็เปิดดิกชันนารีเวลามีศัพท์ภาษาอังกฤษที่ไม่รู้จักโผล่มาตลอด ประโยคไหนที่ผมแปลแล้วไม่เข้าใจก็จะอ่านจนกว่าจะเข้าใจ ทำให้ทุกครั้งที่ผมเล่นเกมตระกูลนี้ก็เก่งภาษาขึ้นตลอด จำได้ว่าตอนบ้า FFT ผมตามไปอ่าน FAQs ในเว็บ gamefaqs จนครบทุกอันทำให้ตอนช่วง ม.6 - ปี 2 ภาษาอังกฤษพัฒนากลายเป็นคนละคนไปเลย (ผมสอบ CU-TEP ตอนเข้าปี 1 ผมได้แค่ 499 แต่ตอนจบปี 4 กลายเป็น 600+ ไปเลยครับ หน้ามือเป็นหลังเท้่ามาก ๆ)

    ตอนผมบ้า FFT มาก ๆ ผมถึงขนาดเขียนเว็บขึ้นมาเลยด้วยซ้ำ กลายเป็นว่าได้พัฒนาทักษะการดีไซน์เว็บจากกระจอกกลายเป็นพอดูได้ เข้าใจ HTML CSS เลยซะงั้น คนบางคนแถวนี้ยิ่งกว่าผมอีก ถึงขนาดเล่นเกม ทำเว็บจนเป็นมืออาชีพ หาเลี้ยงตัวเองได้จากสิ่งนี้เลยด้วยซ้ำ

    ที่อยากจะบอกก็คือ เกมมันมีประโยชน์กว่าที่เราคิดครับถ้าเรารู้จักเรียนรู้จากมัน เล่นไปใช้สมองไปด้วย อย่าเล่นแค่เอามัน ต้องมีสติรู้ตัว ให้เราเล่นมัน ไม่ใช่มันเล่นเราครับ ลองถามตัวเองดูว่าวันนี้เราเล่นไฟนอล ฯ แล้วเราได้อะไรจากมันบ้าง ?

    2. ค้นหาตัวเองว่าจะเรียนอะไร อยากทำงานแบบไหน

    เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการเรียนหนังสือแล้วครับ โลกในอนาคตไม่เหมือนสมัยก่อนที่เรียนจบอะไรก็ได้ พอมาทำงานแล้วค่อยฝึกเอาอีกแล้ว ตอนที่น้อง ๆ สมัครทุนก็เช่นกัน ในสมัครทุนทุกอันจะต้องมีให้เขียนว่าอยากไปเรียนสาขาอะไร เพราะอะไร เรามีคุณสมบัติอะไรที่จะไปเรียนสาขานี้ ถ้าไม่ได้มีเป้าหมายชีวิต ไม่ได้มีสาขาที่จะเรียนชัดเจนนี่อย่าหวังว่าจะได้ทุนเลยครับ คนที่เค้าพิจารณาใบสมัครของเราเค้าก็ไม่ได้โง่ ถ้าเขียนโม้ ๆ โลกสวยไปเค้าจับได้นะครับ :p

    ประเทศเราเป็นหนึ่งประเทศที่มีวิชาแนะแนวห่วยที่สุดในโลก คุณครูแนะแนวก็เงินเดือนต่ำเตี้ยติดดินซะจนต้องไปสอนพิเศษ ไม่มีปัญญาไปศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องอาชีพ/เรียนต่อเลย เข้าห้องแนะแนวที่ไรคุณครูก็นั่งเทียน ตลอด (ขออภัยครูที่ดี ๆ นะครับ แค่ส่วนใหญ่ก็เป็นอย่างนั้น) ผมตลกมาก ๆ ที่เด็กไทยถูกฝึกให้แก้โจทย์ตรีโกณมิติได้ แต่งกาพย์ฉบัง 11 ได้ แต่ไม่เคยถูกฝึกให้คิดว่าอยากเรียนอะไร อยากทำงานแบบไหน สุดท้ายเลยเกิดค่านิยมแปลก ๆ เช่น "เกรดเยอะเข้าสายวิทย์ เกรดกากเข้าสายศิลป์ คะแนนถึงไปเรียนหมอ คะแนนต่ำไปเรียนวิทยา" ขึ้นมา

    ผมเองตอนเล่นไฟนอล ฯ ก็รู้ว่าตัวเองเป็นเกมเมอร์สายเทคนิค ชอบดูสูตรคำนวนของท่าต่าง ๆ ชอบทดลองว่าวิธีไหนดีที่สุด แรงที่สุด ส่วนพวกเนื้อเรื่องลึกซึ้ง ปรัชญา ฯลฯ แทบไม่สนใจ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผมเหมาะ คณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ มากกว่าเรื่องภาษา-สังคม-ประวัติศาสตร์ แต่เล่นเกมอย่างเดียวมันไม่ทำให้เราหาตัวเองเจอนะครับ เราต้องออกไปดูวิชาการบ้าง ผมเองรู้ว่าชอบวิชาเคมีมาก ๆ ตั้งแต่ ม.2 อ่านหนังสือเกี่ยวกับวิชาเคมีมากแค่ไหนก็ไม่เบื่อ ถึงจะไม่ค่อยรู้เรื่องก็เถอะ ตอนปิดเทอม ม.6 ก็ไปขอร้องห้องแล็บที่ สวทช. เค้าให้รับเป็นเด็กฝึกงานจนมั่นใจว่าเราชอบเรียนทางนี้จริง ๆ

    คนหลายคนชอบจำกัดมุมมองว่าเรื่องวิชาการ ทฤษฎี นั้นมีอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ความจริงมันไม่ใช่เลยครับ ไม่ว่าจะ ถ่ายภาพ ร้องเพลง ทำธุรกิจ เป็นไกด์ เล่นหุ้น ประกาศข่าว ซ่อมคอมพ์ ปลูกข้าว ฯลฯ นั้นก็ส่วนที่เป็นทฤษฎีเช่นกันครับ ทุกสาขาอาชีพนั้นก็มีด้านที่เป็นวิชาการทั้งนั้น ซึ่งตอนที่เราอายุยังน้อย นี่เป็นส่วนที่เราเข้าถึงได้ง่ายกว่าภาคปฏิบัติ เด็ก ม.ต้น อยู่ดี ๆ จะไปเป็นไกด์หรือเล่นหุ้นคงยากอยู่ แต่เราสามารถอ่านทฤษฎี อ่านหนังสือเล่าถึงประสบการณ์ของคนในสายอาชีพนี้ได้ ลองศึกษาดูให้เยอะ ๆ ครับ บางทีเราอาจจะไปเจอบางอย่างที่มันเหมาะกับเราก็ได้ ถึงแม้ว่าพอไปทำจริง ๆ แล้วมันจะต่างไปจากทฤษฎีอยู่บ้างแต่ถ้าได้รู้ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มันก็ดีกว่าไม่รู้อะไรเลยครับ

    เพราะฉะนั้นน้องคนไหนที่เรียนมัธยมอยู่ผมอยากให้การค้นหาตัวเองเป็นเป้าหมายหลักของเราครับ อย่างน้อย ๆ น้อง ๆ ควรจะรู้ว่าเราอยากทำอาชีพแนวไหน จะสอบเข้าคณะอะไรได้ชัดเจน ไม่ใช่ว่าสุดท้ายก็ไปเรียนอะไรซักอย่างที่คะแนนถึง ผมอยากจะบอกว่าเวลาขอทุน คนที่อยากไปเรียนต่อเพราะมีความฝันด้านนั้นจริง ๆ ได้เปรียบคนที่อยากไปเรียนต่อเพราะแค่อยากได้ปริญญาจากเมืองนอกเยอะครับ คนที่เรียนเพราะอยากเรียนกับคนที่เรียนไปอย่างนั้นนี่ความกะตือรือล้น การศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ผลงานต่าง ๆ มันจะฟ้องออกมาครับ

    ที่อยากจะบอกก็คือในช่วงมัธยม เราใช้เวลาไปกับอะไร เรียนพิเศษ เที่ยวกับเพื่อน ทำกิจกรรม ฯลฯ พวกนั้นก็ดีอยู่ครับ แต่ผมอยากจะบอกว่าประโยชน์ของมันนั้นไม่ได้เสี้ยวของการค้นหาตัวเองเลย ก่อนจบมัธยมถ้าเรายังไม่รู้ว่าอยากทำงานแบบไหน เรียนต่ออะไร ต่อให้ต้องเสียเวลาว่างทั้งหมดไปกับการค้นหาตัวเองก็ยังคุ้มครับ

    3. ทุนเรียนต่อนั้นไม่อยู่ดี ๆ ลอยเข้ามา เราต้องแสวงหา (อย่างหนัก)
    สำหรับประเทศไทยนั้นทุนการศึกษาเป็นอะไรที่ต้องแย่งกันอย่างมากครับ เพราะฉะนั้นโอกาสที่่จะไม่ได้ก็มีมาก เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาทุนไว้หลาย ๆ อันเพื่อเพิ่มโอกาส ผมคนคนหลายคนบ่นว่าอยากเรียนต่อที่ญี่ปุ่น แต่ปีนึงสมัครทุนไปทุนเดียว แล้วมันจะได้มั้ยเนี่ย

    ลองถามตัวเองดูครับว่าใช้เวลาในการแสวงหาทุนไปกี่ชั่วโมง คนหลาย ๆ คนนี่กว่าจะได้ทุนก็ใช้เวลาหาข้อมูลกันหลายปีนะครับ ผมเองตอนแรกวางแผนว่าจะสมัครซักสิบทุนด้วยซ้ำ แต่เผอิญว่าได้ตั้งแต่ทุนที่สองก็เลยสบายไป

    สมัยนี้หาข้อมูลทุกคนก็ทำเหมือนกัน คือ search google ซึ่งปัญหาที่ทุกคนเจอคือมีทุนเยอะแยะ แต่มักไม่ค่อยตรงกับเงื่อนไขของเรา ตรงนี้ไม่มีทางเลือกครับนอกจาก "ถึก" คือหามันเข้าไป อ่านมันเข้าไป แล้วคัดเลือกอันที่มันตรงกับเงื่อนไขของเราออกมา แล้วก็ตะบี้ตะบันสมัครมันเข้าไปเลยครับ ส่วนใหญ่เอกสารของแต่ละทุนมันก็คล้าย ๆ กันหมดแหละ บางข้อที่ต้องเขียนยาว ๆ เช่น statement of purpose กับ future plan ก็เขียนทีเดียว ก็อปปี้ไปแปะแล้วก็แก้นิดหน่อย สบายเฮ

    บางคนอาจเจอปัญหาว่าข้อมูลของทุนที่หาเจอนั้นมันไม่ค่อยละเอียด ต้องกล้า ๆ โทรไปถามครับ เพราะบางทีเค้าก็จงใจ เพราะอยากได้คนกล้าโทรไปคุยก็มี ดังนั้นต้องกล้าหน้าด้านนิดนึงครับ โทรไปแล้วเค้าปฏิเสธ โทรไปแล้วเค้าไม่รู้เรื่อง เราอาจจะรู้สึกแปลก ๆ นิดหน่อยแต่ก็ต้องไม่ท้อ หาทุนอื่นต่อไปครับ

    เรื่องการหาทุนผมคิดว่าคงไม่ต้องแนะนำมาก แต่ทุนที่ผมแนะนำก็มีอยู่นิดหน่อย คือทุนรัฐบาลญี่ปุ่น และทุนอะไรก็ตามที่สำนักงานวิรัชกิจของมหาลัยที่น้อง ๆ เรียนอยู่เอามาขึ้นเว็บ เหตุผลก็คือทุนรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นแต่ละปีรับเยอะมาก หลายสิบคน ในขณะที่ผู้แข่งขันนั้นไม่ถึงพันคน เพราะฉะนั้นคนธรรมดาที่ไม่ได้เทพมาก ถ้าอ่านหนังสือมามากพอก็มีสิทธิ์ได้ทุน ส่วนทุนที่สำนักงานวิรัชกิจของมหาลัยเอามาแนะนำนั้นมีข้อดีตรงที่เงื่อนไขมันต้องตรงกับเราอยู่แล้ว (ไม่งั้นเค้าไม่เอามาแนะนำหรอก) และผู้เข้าแข่งขันมักจะไม่มาก (บางทีหลักหน่วย) ทำให้มีโอกาสได้สูง :cool:

    น้อง ๆ บางคนที่ตอนมัธยมสอบทุนเพื่อไปเรียนต่อ ป.ตรี แล้วไม่ได้ก็อย่าเพิ่งเสียใจครับ เพราะทุนสำหรับคนจบ ป.ตรี ไปเรียนต่อโท หรือจบโทไปต่อเอก นั้นมีมากกว่ากันหลายเท่าตัว ผมเองตอนจบ ม.6 ก็เกรดไม่ถึงเกณฑ์ของทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเหมือนกัน (เค้าต้องการ 3.8) แต่ตอนจบ ป.โท ก็ไปสอบผ่านข้อเขียนของทุนรัฐบาลญี่ปุ่นมาแบบสบาย ๆ แต่ไม่ต้องไปสัมภาษณ์แล้วเพราะได้ทุนอื่นก่อน

    ดังนั้นอย่าลืมครับ เว็บทุนรัฐบาลญี่ปุ่น เว็บของสำนักงานวิรัชกิจ เว็บ JASSO เราต้องเข้าไปเช็คเสมอ

    4. ในการหาทุน เกรด ค่อนข้างสำคัญ
    นี่เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของเอเชียที่ผมไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ก็คือคนเอเชียเรามักวัดเด็กเก่งไม่เก่งที่เกรดครับ ญี่ปุ่นก็เช่นกัน ทุนส่วนใหญ่มักจำกัดว่าต้องได้เกรดเฉลี่ยถึงกำหนดจึงจะสมัครได้ บางทุนอาจต้องการถึง 3.8 สำหรับมัธยม และ 3.5 สำหรับ ป.ตรี

    เพราะฉะนั้นเมื่อเรารู้ล่วงหน้าอย่างนี้แล้วก็ต้องไม่พลาดครับ ถ้าอยากได้ทุนเราต้องอย่าปล่อยปละละเลยในการเรียนเด็ดขาด แม้จะเป็นวิชาที่ไม่ถนัดก็ตาม ถ้าหากตอนมัธยมพลาดไปแล้ว ป.ตรี ต้องไม่พลาด ถ้า ป.ตรี พลาด ตอน ป.โท ก็ต้องไม่พลาดครับ สำหรับตอนมัธยมบางทีอาจยากหน่อยเพราะตัวแปรเยอะ แต่ถ้าเข้ามหาลัยแล้วตั้งใจจริง เกรด 3.5+ นี่เป็นไปได้สำหรับทุกคนครับ เพราะมันอยู่ที่ความพยายามล้วน ๆ ผมอยากเตือนน้อง ๆ ที่เพิ่งเข้า ป.ตรี ว่าเราต้องรู้ว่าเราอยากได้อะไร ถ้าการได้ทุนไปเรียนต่อญี่ปุ่นเป็นเป้าหมายหลักของเรา เรื่องเรียนต้องมาก่อนครับ พวกกิจกรรมเพลา ๆ บ้างก็ได้ แต่ถ้าไม่สนเรื่องทุน เกรดอาจไม่สำคัญเท่าไหร่ ทำกิจกรรมอาจเพิ่มประสบการณ์ให้เรามากกว่าก็ได้

    มีเรื่องตลกนิดนึงที่อยากเล่า คือตอนเรียน ป.ตรี เพื่อนผมหลายคนนั่งสุมกันวางแผนอย่างจริงจังมาก ว่าจะถอนวิชานี้ สู้วิชาโน้น ศึกษากันอย่างดีว่าถอนตัวไหนผลกระทบมาก ตัวไหนผลกระทบน้อย ผมเห็นแล้วยังคิด ว่าถ้าพวกมันตั้งใจอ่านหนังสือมากเท่ากับศึกษาเรื่องการถอน ป่านนี้มันคะแนนมากพอจนไม่ต้องคิดเรื่องถอนแล้ว -_-; มีคำพูดหนึ่งที่ผมประทับใจมาก คือ "เกียรตินิยมมันก็แค่กระดาษ ไม่ได้สำคัญอะไร แต่สิ่งที่ทำให้คน ๆ หนึ่งได้เกียรตินิยมต่างหาก ที่สำคัญ"

    ตัวผมเองตอนมัธยมก็เกรดไม่ถึงที่จะสอบทุนหลายทุน พอตอน ป.ตรี ป.โท เลยพยายามให้เกรดมากพอจนในที่สุดผมก็มีสิทธิ์สอบทุกทุนครับ ผมก็สงสัยเหมือนกันว่าทำไมต้องกำหนดเงื่อนไขแบบนี้ บางทีคนเกรดน้อย ๆ อาจจะเก่งก็ได้ทำไมไม่ให้เค้าลองสอบ แต่คนกำหนดเรื่องพวกนี้ไม่ใช่เราครับ

    ส่วนถ้าเกรดไม่เยอะ วิธีแก้คือผลงานครับ ทุกสาขาวิชานั้นผลงานที่ดีจริงย่อมสำคัญกว่าเกรด แต่ผลงานที่ผมว่าหมายถึงงานวิจัย/รางวัลระดับชาติ/รางวัลระดับนานาชาติ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาของเรานะครับ พวกรางวัลเชียร์ลีดเดอร์อะไรแบบนั้นไม่นับ ตรงนี้สำหรับคนจบ ป.ตรี ป.โท นั้นสำคัญมาก เพราะถ้าเกรดไม่ดีต้องมีผลงานดี ถ้าผลงานธรรมดาหรือไม่มีต้องเกรดดีครับ ถ้าแย่ทั้งสองอย่างคือจบเห่เอวัง

    สำหรับคนที่เกรดไม่เยอะแต่ผลงานดี ความจริงแล้วลองแอบไปสมัครทุนฝั่งยุโรปหรืออเมริกาดูก็ดีนะครับ โอกาสจะเยอะกว่า เพราะฝั่งโน้นเค้าไม่บ้าเกรดเหมือนฝั่งเอเชีย

    5. ในการขอทุน ภาษาอังกฤษ (แอบ) สำคัญกว่าภาษาญี่ปุ่น
    เป็นเรื่องที่ตลกแต่จริง ก็คือในการขอทุนไปเรียนที่ญี่ปุ่น ถ้าเราไม่ได้เรียนเอกภาษาญี่ปุ่นหรือญี่ปุ่นศึกษาแล้วล่ะก็ ภาษาอังกฤษจะแอบสำคัญกว่าภาษาญี่ปุ่นอยู่พอสมควร อันนี้คือเฉพาะขั้นตอนขอทุนนะ ตอนไปอยู่จริง ๆ อาจได้ใช้ภาษาญี่ปุ่นเยอะกว่าก็ได้

    ลองนึกดูว่าต่อให้เราเก่งภาษาญี่ปุ่นได้เท่ากับคนญี่ปุ่นแต่ไม่ได้มีความรู้อย่างอื่น พอเราไปอยู่ที่นู่นเราก็จะเหมือนคนธรรมดาที่ไม่รู้อะไรเลย เพราะคนที่เก่งภาษาญี่ปุ่นเท่าเรานั้นเดินกันเต็มประเทศ มันยากหน่อยที่จะทำให้เค้าประทับใจเราได้

    กลับกัน ถ้าเราเก่งภาษาอังกฤษ ซึ่งคนญี่ปุ่นหลายคนเค้าไม่ค่อยเก่ง เค้าก็จะรู้สึกว่าเราเจ๋ง ถึงแม้ความรู้ภาษาญี่ปุ่นเราเป็นศูนย์ก็ตาม (แต่ถ้าได้ทุนแล้วเราควรไปเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยนะ ไม่งั้นไปอยู่นู่น สั่งข้าวเป็นภาษาอังกฤษนี่คงไม่ได้กินแน่ ๆ) คนได้ทุนไปเรียนต่อญี่ปุ่นจำนวนมาก (ดีไม่ดีอาจเป็นส่วนใหญ่) นี่ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเลยแม้แต่น้อย แต่ก็ยังได้ทุน เพราะภาษาอังกฤษดีครับ โดยเฉพาะการไปเรียนต่อระดับ ป.โท ป.เอก เพราะในการทำวิจัยนั้น ภาษาอังกฤษสำคัญกว่าภาษาญี่ปุ่นมากกกกกก เว้นแต่ว่าหัวข้อวิจัยของเราจะเกี่ยวกับภาษาญี่ปุ่น

    เพราะฉะนั้นผลสอบคะแนนภาษาอังกฤษเราต้องมีครับ แล้วควรเป็นการสอบมาตรฐานระดับนานาชาติ (เช่น TOEFL, IELTS) ด้วยนะครับ ไม่ใช่พวก CU-TEP, TU-GET อันนี้คนญี่ปุ่นเค้าไม่น่าจะรู้จักครับ ถ้ายังไม่มีก็ไปสอบมาไว้ก่อนเลย มีคะแนนห่วย ๆ ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลยครับ ผมเองก็ไปสอบ TOEFL มาเล่น ๆ เพื่อจะได้รู้แนว ปรากฎว่าคะแนนออกมาดีกว่าที่คิด เอาไปยื่นนี่คนญี่ปุ่นยังชมเลยครับ (ทั้ง ๆ ที่คะแนนของผมอาจโดนคนไทยบางคนดูถูกด้วยซ้ำ เห็นไหมครับว่าคนญี่ปุ่นเค้าชื่นชอบคนที่ได้ภาษาอังกฤษขนาดไหน)

    ตอนนี้ขอพิมพ์แค่นี้ก่อนละกันครับ แค่นี้ก็โม้เยอะจนอ่านยากแล้ว ถ้าอยากรู้ข้อมูลก็ลองโพสถามดูละกันครับ อันไหนผมตอบได้จะลองตอบดู อันไหนตอบผมไม่ได้ก็ยังมีหลายท่านในบอร์ดที่มากประสบการณ์ครับ

    ขอให้น้อง ๆ ทุกคนประสบความสำเร็จในการหาทุนไปเรียนต่อนะครับ
    ถ้าบทความนี้มีที่ผิดพลาดประการใด ผมขอรับความซวยไว้แต่เพียงผู้เดียวครับ
    sensaisensai, eol และ Azemag ถูกใจสิ่งนี้
  2. mogca

    mogca モーグリ:零式

    EXP:
    3,681
    ถูกใจที่ได้รับ:
    44
    คะแนน Trophy:
    98
    ไปเรียนญี่ปุ่นปีหน้ารึครับ ปีหน้าถ้าไปเที่ยวผมมีคนนำเที่ยวแล้ว! :p ไปอยู่เมืองไหนครับ ^^

    ปล. เคยคิดจะหาทุนเรียนที่นั่นเหมือนกันนะ แต่สาขาที่อยากเรียน (AIS, MIS) แทบหาไม่ได้เลย ถ้าไม่หนักไปสายวิทย์ก็จะเป็นพวกเศรษฐศาสตร์อะไรแบบนั้น ทุกวันนี้ด็เลยยังไม่ได้เรียนอะไรจนสมองด้านไปหมดแล้วครับ
  3. ffpokemon

    ffpokemon Editor

    EXP:
    1,691
    ถูกใจที่ได้รับ:
    79
    คะแนน Trophy:
    113
    ไปอยู่ที่เมือง sanda ที่อยู่ใน hyoko prefecture ครับ

    เมืองที่ผมไปไม่ค่อยมีอะไรให้เที่ยวหรอกครับ เพราะมันออกแนวชนบท (แต่ อ.ที่ปรึกษาบอกดี จะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำวิจัยไป)
    เรื่องนำเที่ยวนี่ ถ้าพี่ม็อกมาอาจกลายเป็นพี่ม็อกนำผมเที่ยวก็ได้นะครับ :E
  4. sunindyman

    sunindyman Member

    EXP:
    75
    ถูกใจที่ได้รับ:
    3
    คะแนน Trophy:
    8
    เล่นไฟนอลแล้วได้เรียนภาษาอังกฤษไปในตัวด้วยจริงๆ แต่ภาษาญี่ปุ่นนี้ไม่ไหวเลย เก่งจริงๆ
  5. mogca

    mogca モーグリ:零式

    EXP:
    3,681
    ถูกใจที่ได้รับ:
    44
    คะแนน Trophy:
    98
    ผมชอบไปเมืองชนบทนะ เพิ่งกลับมาจากคุมาโมโตะกะฟุกุโอกะ อันหลังนี่ใหญ่หน่อยแต่ก็ไม่ถึงขนาดโตเกียว แบบนั้นดูวุ่นวายเกิน ส่วนคุมาโมโตะนี่ชอบมาก รู้สึกสงบมากๆ

    ปล. แฟฟคุงวิจัยสาขาอะไรนะ วิทยาศาสตร์? วิศวะ?
  6. ffpokemon

    ffpokemon Editor

    EXP:
    1,691
    ถูกใจที่ได้รับ:
    79
    คะแนน Trophy:
    113
    ^
    ^
    วิทยาศาสตร์ เคมี ครับ
  7. eol

    eol earth of lolicon!!

    EXP:
    1,040
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    86
    โอ้ .... ยินดีด้วยครับท่านแฟฟ ได้ทุนเรียนที่ญี่ปุ่นด้วย สุดยอดเลยครับ ^^b

    ผมก็มีเพื่อนเรียนโทที่ยุ่นอยู่คนนึง อยู่โกแบ .... ไปได้แฟนเป็นคนจีนที่เรียนอยู่ด้วยกันซะงั้น !!! #เกี่ยว?

    เนื้อหาแจ่มมากเลยครับ เห็นด้วยกับที่ว่าเล่นเกมแล้วได้ภาษา Eng ครับ ถ้าไม่เล่น FF ผมก็อาจจะดักดานภาษา Eng อยู่ก็เป็นได้ ถึงจะไม่ได้หาคำแปลซะทุกคำ ก็พอเข้าใจประมาณ 60-70% อะนะ แต่ความจำผมไม่ค่อยดีเท่าไร ผ่านไปวันสองวัน ลืมเนื้องเรื่องเก่าแล้ว (ฮา ...) เลยบางทีก็ประติดประต่อเรื่องไม่ถูกเหมือนกัน

Share This Page