จิตวิทยา... ล่ะมั้ง

กระทู้จากหมวด 'ETC' โดย pmuean, 26 กุมภาพันธ์ 2008.

  1. Aki

    Aki Paradox Observer

    EXP:
    485
    ถูกใจที่ได้รับ:
    41
    คะแนน Trophy:
    48
    อย่างที่บอกไว้ครับ ... ตอนนี้ผมส่งงานจบการศึกษาไปเรียบร้อยละ หลังจากที่พึ่งพักผ่อนเสร็จ ตื่นมาก็เลยรีบเปิด AF เข้ามาดูกระทู้นี้ทันที

    แล้วก็พบว่า ...

    อืม ... พอมาอ่านๆแล้วก็เริ่มไม่ถูกเลยว่าจะต้องเริ่มแก้ตรงไหนให้ เอาเป็นว่าเอาตามประเด็นที่แต่ละคนแสดงความคิดเห็นมาขยายคำอธิบายในเชิงลึกต่อดีกว่า แล้วก็ค่อยๆสาธยายเอาจากตรงนั้นเอา เป็นการแก้ข้อสงสัยในบางส่วนของแต่ละคนด้วย

    หมายเหตุ: ก่อนอื่นต้องออกตัวก่อนเลยว่า ผมก็ไม่ได้เป็นเจ้าของทฤษฎีจิตวิเคราะห์แต่อย่างใด ที่จะอธิบายต่อจากนี้ก็เพื่อให้ประเด็นของกระทู้มันถูกต้องตามหลักการ และความถูกต้องนี้นั้นเป็นความถูกต้องตามที่ผมเคยเรียนมาเท่านั้น ในเชิงที่ลึกมากกว่านี้ อาจมีความถูกต้องที่มากกว่านี้หรือชัดเจนกว่านี้ หากในประเด็นใดที่แต่ละท่านมีความรู้ความเข้าใจซึ่งชัดเจนมากกว่าผม ก็มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ครับ ... อย่าถือเอาคำพูดของผมเป็นสิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด ผมก็แค่คนที่เรียนมาทางด้านนี้ ซึ่งบอกไม่ได้ว่าสิ่งที่ผมเรียนมันเป็นสิ่งที่ถูกจริงๆ ...

    หมายเหตุ2: คำอธิบายในประเด็นต่างๆของผมอาจใช้ศัพท์ทางจิตวิทยาซะโดยส่วนมาก ... หากสงสัยหรือข้องใจก็ถามได้ครับ เพราะในการอธิบายโดยรวม ผมไม่สามารถเลือกใช้คำตามความเข้าใจของแต่ละคนได้ดีพอ นอกจากว่ามันเป็นประเด็นๆขึ้นมา ผมถึงจะสามารถหาทางอธิบายในแต่ละประเด็นในแบบทั่วๆไปได้


    เท่าที่เห็นตอนนี้ก็จะมีประเด็นที่มาที่ไปของทฤษฎี Freud และความน่าเชื่อถือของ Psychoanalysis Theory (ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ หรือที่ตอนนี้พวกเราในนี้กำลังเรียกกันอยู่ว่าทฤษฎีของ Freud)

    ในการศึกษาจิตวิทยา เค้าบอกว่าอัตถชีวประวัติของนักทฤษฎีแต่ละคนมีผลต่อหลักการและแนวความคิดในทฤษฎีของเขา หรือที่เรียกกันว่า Psycho History ซึ่งเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประวัติของนักทฤษฎีคนนั้นกับแนวความคิดในทฤษฎีของเขา ซึ่งหนึ่งในหลายๆคนแนวความคิดของ Freud เองก็อาจจะเป็นผลมาจากอัตถชีวประวัติของเขาเช่นเดียวกัน

    ด้วยความที่ Sigmund Freud เป็นแพทย์ (ในเชิงลึกผมก็ไม่ทราบรายละเอียดเหมือนกัน เพราะว่าผมไม่ได้สนใจประวัติและแนวความคิดของเค้าเป็นพิเศษ และก็ไม่ใช่สายเค้าด้วย) และเค้าศึกษาจิตวิทยาจากคนไข้ของเขา ดังนั้นมุมมองของทฤษฎีที่เค้าศึกษาจึงมาจากคนไข้ที่มีความผิดปกติทางจิต ซึ่งด้วยมุมมองและความเห็นส่วนตัวแล้ว เหตุผลที่ทำให้แนวคิดของเค้าไม่น่าเชื่อถืออย่างหนึ่งก็คือ การสรุปเอาธรรมชาติที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทางจิตมาอนุมานถึงธรรมชาติของคนปกติด้วย มองในทางวิธีการศึกษาวิจัยแล้ว กลุ่มตัวอย่างที่มีคุณลักษณะแตกต่างกันย่อมไม่สามารถอ้างอิงถึงประชากรเดียวกันได้ และในระเบียบวิธีการวิจัยจึงจำเป็นต้องใช้กระบวนการในการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเพื่อป้องกันการอนุมานรวม (Generalization) กลุ่มตัวอย่างที่มีคุณลักษณะแตกต่างกัน

    แต่อย่างไรก็ตาม แนวความคิดของ Freud ก็มีความเป็นเหตุเป็นผลในหลายๆทาง เพราะอย่างน้อยด้วยเบื้องต้นและพื้นฐานแล้ว ผู้ป่วยทางจิตก็เป็นคนเหมือนกัน หรืออย่างน้อยก่อนที่จะเป็นผู้ป่วยทางจิต ก็เคยเป็นคนที่มีสุขภาพจิตเป็นปกติมาก่อน นั่นหมายความว่า ระหว่างผู้ป่วยทางจิตกับคนปกติย่อมมีพื้นฐานเดียวกัน ซึ่งเมื่อโครงสร้างภายในทางจิตเปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นผลทำให้จากคนปกตินั้นมีความผิดปกติทางจิต

    เนื่องจาก Freud เชื่อว่า จิตใจนั้นมีโครงสร้างและกระบวนการภายในโครงสร้างของมันอยู่ ซึ่งโครงสร้างทางจิตนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางจิต (Psychic Energy) ในระดับต่างๆ คุณลักษณะต่างๆของเรา เช่น ความคิด ค่านิยม พฤติกรรม รวมไปถึงบุคลิกภาพของเรานั้นจึงเป็นผลมาจากโครงสร้างทางจิตของเราซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามการกระทำระหว่างกันของพลังงานทางจิต

    อธิบายในอีกทางก็คือ ... ที่เราเรียกว่า จิตใจนั้น ... ภายในจิตใจมันมีพลังงานอยู่ ... และพลังงานเหล่านี้เป็นผลทำให้เกิดคุณลักษณะต่างๆ เช่น ความคิด พฤติกรรม ค่านิยม ... จนมันกลายเป็นโครงสร้างทางจิตของเราไป

    ดังนั้นไม่ใช่แต่เพียงพฤติกรรมของพวกเรา ในทุกๆส่วนของพวกเราเกิดมาจากโครงสร้างทางจิตที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานทางจิต (แต่ก่อนจึงเรียกทฤษฎีจิตวิเคราะห์นี้ว่า Psychodynamic Theory ทฤษฎีพลวัตทางจิต)


    ในอีกมุมมองหนึ่ง Freud ยังเชื่อด้วยว่าพลังงานทางจิตทั้งสามนี้มีความเกี่ยวข้องกับสันชาตญาณ (Instinct) เพราะคนเราดำรงชีวิตอยู่ด้วยพื้นฐานของสัญชาตญาณ หรืออาจเรียกได้ว่าสัญชาตญาณเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิต ในทุกสิ่งของเรา (ซึ่งแสดงออกผ่านพฤติกรรมและการกระทำ) เป็นไปตามสัญชาตญาณในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ซึ่งสันชาตญาณนี้เป็นเหตุผลของความอยู่รอดและการดำรงชีวิตของเรา แนวความคิดของเขาแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมอันสลับซ้อนต่างๆที่เกิดขึ้น เมื่อมองในเชิงลึกและแก่นพื้นฐานของมัน พฤติกรรมเหล่านั้นย่อมเป็นไปตามสัญชาตญาณในลักษณะที่แตกต่างกัน

    โดยสัญชาตญาณนั้นแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ Life Instinct และ Death Instinct หรือที่เรียกกันว่า สัญชาตญาณแห่งการอยู่รอด และสัญชาตญาณแห่งการทำลาย

    สันชาตญาณแห่งการอยู่รอดและสันชาตญาณแห่งการทำลาย ต่างเป็นเหตุพื้นฐานให้บุคคลแสดงพฤติกรรม (รวมถึง การมีคุณลักษณะต่างๆ เช่น ความคิด ความเชื่อ) เพียงแต่ดำเนินไปในทิศทางที่แตกต่างกัน สัญชาตญาณแห่งการอยู่รอดนั่นดำเนินไปตามแรงขับพื้นฐานเพื่อนำมาสู่การมีชีวิต (ซึ่งตามความเชื่อของ Freud แล้ว คนเรามีแรงขับทางเพศและแรงขับทางสรีระวิทยาเป็นแรงขับพื้นฐาน) หรือก็คือ สันชาตญาณแห่งการอยู่รอดคือ ทำเพื่อให้ได้มา การได้มานั้นทำให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่สันชาตญาณแห่งการทำลาย คือ เป็นเหตุพื้นฐานให้บุคคลแสดงพฤติกรรม (รวมถึง การมีคุณลักษณะต่างๆ เช่น ความคิด ความเชื่อ) เพื่อทำลาย ซึ่งดำเนินไปตามแรงขับความก้าวร้าว

    และสันชาตญาณเหล่านี้ต่างมีความสัมพันธ์กับพลังงานทางจิต
  2. Aki

    Aki Paradox Observer

    EXP:
    485
    ถูกใจที่ได้รับ:
    41
    คะแนน Trophy:
    48
    พลังงานทางจิตนี้มีอยู่ 3 ลักษณะด้วยกัน ซึ่งในพลังงานทางจิตทั้งสามนี้อยู่ในระดับที่แตกต่างกัน และพลังงานทางจิตทั้งสามนี้ เรียกว่า Id, Ego, Superego

    ซึ่งพลังงานทางจิตทั้ง 3 ตัวนี้มีคุณลักษณะ (คุณสมบัติ) ที่แตกต่างกัน

    Id เป็น พลังงานของความต้องการพื้นฐาน การต้องการที่จะได้รับการตอบสนองตามแรงขับพื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนผลักดันเพื่อให้เกิดพฤติกรรมอันนำมาสู่การได้รับการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานต่างๆ นักเดินทางที่อยู่ท่ามกลางทะเลทรายอันเดือดพล่านราวกับกระทะทองแดงรู้สึกขาดน้ำ เพราะโครงสร้างทางสรีระวิทยาเปลี่ยนแปลงไป เช่น น้ำในร่างกายลดลง จึงเป็นผลให้ร่างกายเกิดความขาดสมดุลหรืออยู่ในภาวะเสียสมดุล (Disequilibrium) ส่งผลให้เกิดแรงขับพื้นฐานเพื่อทำให้ร่างกายกลับสู่ภาวะสมดุล (Equilibrium) พลังงานทางจิตอย่าง Id จึงเพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันให้บุคคลแสดงพฤติกรรมอันจะสามารถตอบสนองความต้องการตามแรงขับพื้นฐานนี้ได้ เช่น หยิบน้ำในกระติกดื่ม ... นั่นหมายความว่า Id เป็นพลังงานทางจิตที่ขึ้นอยู่กับหลักของความสุข (Pleasure Principle) คือพลังงานที่ผลักดันเพื่อให้เกิดพฤติกรรมนำไปสู่ความสุข (ความสุขในที่นี้หมายถึง ภาวะเป็นสุขจากการได้รับการตอบสนองตามแรงขับและความต้องการพื้นฐาน)

    Ego เป็นพลังงานทางจิตที่ขึ้นอยู่กับความเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งผลต่อการควบคุมและกำหนด รวมถึงการผลักดันเพื่อให้พฤติกรรม (รวมถึงการมีคุณลักษณะบางอย่าง เช่น ความคิด ความเชื่อ) ที่เกิดขึ้นนั้นคงอยู่ในโลกของความเป็นจริงตามหลักของความเป็นจริง (Reality Principle) พลังงานทางจิตอย่าง Ego นี้มีเพื่อควบคุมวิธีการที่จะได้มาซึ่งความสุข (ภาวะเป็นสุขจากการได้รับการตอบสนองตามแรงขับและความต้องการพื้นฐาน) ให้เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ให้สอดคล้องกับความจริง การทำงานของพลังงานทางจิตตัวนี้จึงพยายามตอบสนองต่อแรงขับตามสภาพแวดล้อมที่เป็นจริงและให้เป็นไปในสภาพของเหตุผล เพราะในสภาพความเป็นจริงนั้น เราไม่สามารถตอบสนองต่อแรงขับพื้นฐานได้โดยตรงเสมอไป มีเหตุผลหลายๆประการที่ทำให้เราเลือกตอบสนองต่อแรงขับพื้นฐานที่เกิดขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกัน ... เรากำลังหลงป่า เราหิวมากเพราะไม่ได้กินอะไรมานานแล้วเกือบ 24 ชั่วโมง ระหว่างทางก็มีผลไม้อยู่หลากหลายชนิด แต่มีเพียงส้มเท่านั้นที่เป็นผลไม้ที่เรารู้จัก Ego เป็นพลังงานทางจิตเพื่อให้เราตอบสนองต่อแรงขับพื้นฐาน (ความหิว) นี้ได้อย่างสมเหตุสมผลตามวัตถุประสงค์ของการแสดงพฤติกรรมในครั้งนั้นๆ ถ้าเรามีแรงปรารถนาที่จะมีชีวิตรอดออกไปจากป่า เราคงไม่เลือกกินอะไรที่จะทำให้เราตายอยู่ในป่า และ Ego คือส่วนผลักดันให้เราเลือกกินส้มเพื่อตอบสนองความต้องการตามแรงขับพื้นฐานนั้นได้อย่างสมเหตุสมผลในหลักของความเป็นจริง (Reality Principle)

    Superego เป็นพลังงานทางจิตซึ่งเกิดขึ้นจากหลักของมโนธรรมและคุณธรรมตามความรู้สำนึก นั่นหมายความว่าแหล่งที่มาของพลังงานทางจิตตัวนี้ขึ้นอยู่กับกระบวนการเรียนรู้ การเรียนรู้นี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่การเรียนการสอนคุณธรรมและจริยธรรภายในชั้นเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ต่างๆในระหว่างการดำเนินชีวิต ซึ่งก็คือ เราเรียนรู้ความดีและความชั่ว ความถูกและความผิด จากการมีประสบการณ์ในลักษณะต่างๆ ไม่ใช่แต่การมีประสบการณ์จากการได้รับฟังภายในชั้นเรียนหรือคนอื่นเท่านั้น เราเรียนรู้มโนสำนึกจากการมีประสบการณ์โดยตรงด้วย เราบอกว่า ... การทำร้ายคนอื่นอย่างไม่มีเหตุผลเป็นสิ่งที่ผิด เพราะเราเคยถูกเพื่อนในชั้นเรียนรุมชกต่อย เราเจ็บ ความเจ็บนี้เป็นสิ่งที่เราไม่พึงพอใจ การทำให้คนอื่นเจ็บปวดจึงเป็นเรื่องที่ไม่ดี เราเรียนรู้ความเจ็บปวดเหล่านี้ และเชื่อว่า การทำร้ายคนอื่นอย่างไม่มีเหตุผลนั้นเป็นสิ่งที่ผิด หรือในลักษณะอื่นๆ ... Superego จึงเป็นพลังงานทางจิตซึ่งเกิดมาจากการเรียนรู้ และพัฒนาได้ด้วยการเรียนรู้


    พฤติกรรมเกิดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการที่พลังงานทางจิตแต่ละตัวกระทำระหว่างกัน ซึ่งก็คือในการแสดงพฤติกรรมแต่ละครั้ง พลังงานทางจิตทั้งสามตัวจะต่างผลักดันซึ่งกันและกันตามหลักการของมัน และเป็นผลให้เกิดพฤติกรรม ... ในมุมมองของ Freud แล้ว ความตึงเครียดทางจิตใจเป็นผลมาจากความขัดแย้งกันระหว่างการทำงานของพลังงานสามตัวนี้

    การทำงานของพลังงานสามตัวนี้ต่างค่อยๆสร้างโครงสร้างทางจิตขึ้นมา และพัฒนามาเป็นรูปแบบเฉพาะในแต่ละบุคคล

    มองในมุมลึกลงกว่านั้น พฤติกรรมที่แสดงออกมาย่อมเป็นผลต่อคุณลักษณะประการอื่นๆที่เกิดขึ้นตามโครงสร้างทางจิต เช่น ความคิด ความเชื่อ บุคลิกภาพ และคุณลักษณะต่างๆเหล่านี้ย่อมเป็นผลต่อการสนับสนุนหรือยับยั้งพลังงานทางจิตในแต่ละตัว


    อย่างไรก็ตาม แนวคิดของ Psychoanalysis ยังอยู่ที่ว่า พลังงานทางจิตในแต่ละตัวนั้นจะอยู่ในระดับที่แตกต่างกัน ระดับที่แตกต่างกันนี้คือระดับรู้สำนึก ทฤษฎีจิตวิเคราะห์เชื่ออย่างมากว่า คนเรามีภาวะทางจิตพื้นฐาน คือ ภาวะจิตรู้สำนึก (Conscious mind) และภาวะจิตไร้สำนึก (Unconscious mind) ... และในพลังงานทางจิตที่แตกต่างกันย่อมอยู่ในระดับภาวะทางจิตที่แตกต่างกัน ... Id ซึ่งเป็นพลังงานทางจิตที่พยายามผลักดันให้เกิดการตอบสนองต่อแรงขับพื้นฐานต่างๆย่อมอยู่ได้ในทุกระดับ ทั้งภาวะจิตไร้สำนึก ภาวะจิตใต้สำนึก และแม้แต่กระทั่งภาวะจิตรู้สำนึก เพียงแต่ภายในภาวะจิตรู้สำนึก พลังงานของ Id ย่อมถูกกดดันและยับยั้งจากพลังงานตัวอื่นๆ คือ Ego และ Superego ที่อยู่ในภาวะจิตรู้สำนึกด้วยได้มากกว่า และแสดงออกตามความต้องการแรงขับพื้นฐานได้ไม่เต็มที่นัก Ego และ Superego ที่มีอำนาจควบคุมยามรู้สึกรู้ตัวซึ่งอยู่ในภาวะจิตรู้สำนึก หรืออาจมีผลอยู่บ้างต่อภาวะจิตใต้สำนึก จึงเป็นเพียงพลังงานทางจิตส่วนน้อยเมื่อเทียบกันในทั้งสามภาวะรู้สำนึก


    ดังนั้น โดยเบื้องต้นตามหลักการและแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis Theory) แล้ว คุณลักษะอื่นๆซึ่งเกิดขึ้นมาย่อมเป็นผลมาจากกระบวนการพื้นฐานตามโครงสร้างทางจิตเหล่านี้ แม้แต่แนวความคิดตามหลักขั้นพัฒนาการ Psychosexual Development เองก็มีพื้นฐานจากการคิดวิเคราะห์เบื้องต้นในรายละเอียดเชิงลึกจากแนวคิดพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (เพราะมันอยู่ในแนวคิดทฤษฎีเดียวกัน เพียงแต่เมื่อมองตามพัฒนาการ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์จะถูกอธิบายในมุมกว้างมากกว่า และในลักษณะเฉพาะมากกว่า ซึ่งจริงๆแล้วมันมีเหตุผลที่มาเบื้องต้นจากหลักการสำคัญของทฤษฎี) หรือแม้แต่ในการอธิบายคุณลักษณะอื่นๆด้วยกัน เช่น โครงสร้างทางบุคลิกภาพ, ทฤษฎีค่านิยม หรือในส่วนอื่นๆเองก็ตาม


    จริงๆแล้ว ในรายละเอียดพื้นฐานของทฤษฎีจิตวิเคราะห์มีมากกว่านี้ เช่น หลักการของ Libido ความพอใจเชิงเพศรส หรือความสัมพันธ์ระหว่างพลังงานทางจิตกับความพอใจเชิงเพศรส

    การวิเคราะห์หลักการและแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์นั้นเป็นได้โดยกว้าง เพราะมีปัจจัยตามแนวคิดที่หลากหลาย เช่น ระดับภาวะของจิต, พลังงานทางจิต (Psychic Energy), สันชาตญาณ (Instinct) เป็นต้น การวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยาที่นอกเหนือจากทฤษฎี คือการมองความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างๆ ดังนั้นยิ่งมีตัวแปรของแต่ละปัจจัยมากเท่าใด ... การคิดวิเคราะห์ก็เป็นไปในรายละเอียดที่ซับซ้อนและกว้างออกไปมากขึ้นเท่านั้น

    โดยทั่วไป มักเข้าใจกันว่าแนวคิดของ Freud มีอยู่เพียงเท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วมันค่อนข้างละเอียดและเป็นหลักการที่ต้องอาศัยทักษะในการมองความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆที่มาก ... แต่ในเนื้อหาการสอนตามรายวิชาเบื้องต้นนั้น ได้แต่เพียงการสรุปประเด็นสำคัญๆมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ในเชิงลึกกว่านั้นมีเนื้อหาและรายละเอียดที่ค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับหลักการและแนวคิดของทฤษฎีอื่นๆ


    ในครั้งต่อไป (ถ้ายังมีคนต้องการอยากจะรู้อ่ะนะ) ผมคงจะพยายามอธิบายหลักการและพื้นฐานเบื้องต้นของโครงสร้างทางบุคลิกภาพในรายละเอียดและตัวอย่างที่ชัดเจนกว่านี้ และ Defense Mechanism ที่มีรายละเอียดพื้นฐานค่อนข้างมากพอๆกัน



    [action]- -' เหนื่อยอยู่เหมือนกันแหะ ... พออธิบายพวกทฤษฎีกันแต่ละที[/action]
  3. pisko

    pisko New Member

    EXP:
    814
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    0
    สัตว์ใดที่เดินสี่ขาในยามเช้า เดินสองขาในยามเที่ยง และเดินสามขาในยามเย็น

    อยากรู้คำตอบอ่ะครับ เฉลยที -*-

    EDIT:
    ขอบคุณครับ ผมเห็นเช้า เที่ยง เย็น นึกไปถึงเวลาที่พระอาทิตย์ส่องแสงนู่น -.-

    v
    v
    v
    v
  4. Aki

    Aki Paradox Observer

    EXP:
    485
    ถูกใจที่ได้รับ:
    41
    คะแนน Trophy:
    48
    "คน" ไงครับ

    เดินสี่ขาในยามเช้า คือ ตอนเด็ก ต้องเดินด้วยการคลาน เป็นการเดินสี่ขา

    เดินสองขาในยามเที่ยง คือ โตมาเป็นผู้ใหญ่ ก็เดินสองขา

    เดินสามขาในยามเย็น คือ ตอนแก่ เดินด้วยสองขาไม่ไหว เลยต้องใช้ไม้เท้า เป็นการเดินสามขา
  5. arima

    arima Member

    EXP:
    330
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    16
    เครียสมากๆ แล้วจะปวดหัว จนอวก นี่ เป็นโรคจิตอย่างหนึ่ง หรือเปล่าอะ
  6. l3espiiiz

    l3espiiiz New Member

    EXP:
    63
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    0
    อ่านแล้วรู้สึกมีความรู้ขึ้นเยอะเลยค่ะ แต่ยาวมาก = ='' ตาลายเล็กน้อยถึงปานกลาง
  7. Agleam

    Agleam Member

    EXP:
    246
    ถูกใจที่ได้รับ:
    11
    คะแนน Trophy:
    18
    เข้าใจง่ายดี
    ถ้าผมเข้าใจผิดไปตลอดชีวิตนี่โทษใครไม่ได้นะเนี่ย อิอิ
  8. pisko

    pisko New Member

    EXP:
    814
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    0
    ขอบคุณสำหรับกระทู้ดีดีครับ อ่านจบแล้วมีความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลย
    ผมเองก็กะว่าจะเอ็นแพทย์เหมือนกัน แต่ไม่รู้จะรอดไหม เห็นว่าปีผมจะเปลี่ยนระบบรับเข้า แถมมีให้สอบ O-net ตั้ง 8 วิชา (ปี 53 อ่ะครับ) ไม่รู้จะสอบเอาอะไรนักหนา แถมรุ่นผมซวยตลอด เป็นรุ่นหนูทดลองตลอดเลย (ตั้งแต่ NT แล้ว)

Share This Page