Nintendo Drama ภาคสาม: ศึกชิงเจ้าวิดีโอเกม

กระทู้จากหมวด 'ETC' โดย Sonic, 10 พฤษภาคม 2010.

  1. BlackDragoon

    BlackDragoon New Member

    EXP:
    16
    ถูกใจที่ได้รับ:
    1
    คะแนน Trophy:
    3
    อ่านตั้งแต่ต้น สนุกมากเลย
  2. powder

    powder Member

    EXP:
    260
    ถูกใจที่ได้รับ:
    9
    คะแนน Trophy:
    18
    ข้อมูลเยอะจริงๆ =w="

    จะตามอ่านนะคะ
  3. tales

    tales อัครเทวดาแมวเหมียว

    EXP:
    546
    ถูกใจที่ได้รับ:
    6
    คะแนน Trophy:
    88
    บันทึกจุดเซฟ เรียบร้อย รอติดตามอ่านตอนต่อๆไปอยู่ครับ เห็นพี่โซใช้เวลาอันมีค่าค่อยๆเรียบเรียงเนื้อหาเพื่อน้องๆในบอร์ดแค่นี้ก็ซาบซึ้งมากแล้วครับ
  4. Izabelle

    Izabelle New Member

    EXP:
    47
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    0
    เดินเข้ามาแปะ Save point
    แล้วบอกว่ายังตามอ่านอยู่

    อืมม มิน่าล่ะ ไอ้ตอน Wii ก็ทำเอาคนหาซื้อแทบบ้าคลั่งกัน (เราก็หนึ่งในนั้น) :hjud2:
    ปู่แกใช้การทำตลาดแบบนี้มานานแล้วนิเอง
  5. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    Nintendo Drama part XIII: แผนเก็บนินเทนโด

    [​IMG] ฮิเดะ นากาจิมะ

    บุคคลิกของนากาจิมะเป็นส่วนผสมระหว่างผู้มีอำนาจกับนักธุรกิจผู้ครื้นเครง โดยปกติแล้วในวงการธุรกิจจะถือกติกาคือไม่แบไต๋ไพ่ในมือให้คนอื่นเห็นได้ง่ายๆ นากาจิมะจัดว่าเป็นคนเปิดเผยมากกว่านักธุรกิจทั่วๆไป ทำให้เขาดูเป็นสีสันและถูกค่อนขอดอยู่บ่อยครั้งในหมู่ผู้บริหารหัวอนุรักษ์นิยมของญี่ปุ่น

    เมื่อครั้งที่โนลัน บุชเนลตั้งบริษัทลูกของอะตาริในดินแดนอาทิตย์อุทัย บุคคลที่ก้าวมาสู่ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปคนแรกของบริษัทคือฮิเดะ นากาจิมะ ก่อนหน้านี้เขาทำงานในบริษัทผลิตกระดาษอยู่ถึง 17 ปี และได้ไต่เต้าตามระบบอาวุโสของบริษัทญี่ปุ่นจนได้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ด้วยความบังเอิญหรืออย่างไรไม่ทราบได้ บริษัท Japan Art Paper ที่เขาทำงานอยู่นั้นเป็นบริษัทผลิตกระดาษคุณภาพดีที่มีกิจการตกทอดมากว่า 300 ปี และเป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์หลักที่ส่งกระดาษป้อนโรงงานไพ่ฮานาฟูดะของนินเทนโดด้วย แต่นากาจิมะกลับไม่มีความสุขกับงานของเขาเท่าไหร่นัก

    "สุดท้ายผมมันก็แค่เฟืองตัวหนึ่งของบริษัท ไม่ว่าผมจะทำดีซักแค่ไหน ซักวันก็ต้องมีคลื่นลูกใหม่เข้ามาแทนที่"

    อะตาริญี่ปุ่นนำเข้าเกมตู้ เช่น Pong และแกนแทรค แถมยังต้องแข่งขันกับนินเทนโดและบริษัทเกมตู้อีกเป็นโหลในธุรกิจใหม่ที่กำลังเริ่มต้น ฮิเดะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไป แต่การบริหารของประธานในสาขาญี่ปุ่นทำให้บริษัทขาดทุนอย่างมโหฬาร นายของฮิเดะตัดช่องคลอดแต่พอตัวด้วยการชิงลาออกในช่วงที่บริษัทกำลังจะล้มละลาย ภาระทั้งหลายจึงตกอยู่แก่ผู้จัดการทั่วไปอย่างเขาโดยอัตโนมัติ


    [​IMG]
    (บน) เกม Arcade รุ่นลายครามของอะตาริ​

    เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าบุชเนลเป็นคนบุ่มบ่ามเรื่องการลงทุนเป็นที่สุด เขาตัดสินใจขยายสาขามาที่ญี่ปุ่นทั้งที่อะตาริยุคตั้งไข่ยังอยู่ในอาการร่อแร่ ในการประชุมร่วมผู้บริหารอเมริกา-ญี่ปุ่น นากาจิมะเสนอว่าอะตาริญี่ปุ่นยังพอมีทางรอดอยู่บ้าง โดยเขาใช้เงินออมส่วนตัวเข้ามาพยุงฐานะของบริษัทเอาไว้ได้ระยะหนึ่งแล้ว ถ้าบริษัทแม่ทุ่มทุนสักก้อนมาช่วยหนุนรับรองได้เลยว่าอะตาริจะกลับมารุ่งแน่นอน แต่บุชเนลที่กำลังขัดสนเงินสำหรับการขยายฐานการผลิตได้ตัดสินใจที่จะขายอะตาริสาขาญี่ปุ่นไป คำประกาศของบุชเนลทำให้นากาจิมะต้องมองหาผู้สนใจมาซื้อกิจการ(รวมทั้งหนี้สิน)ของอะตาริเจแปน

    บริษัทเกมตู้หลายเจ้าแสดงความสนใจ Sega ซึ่งเป็นผู้ผลิตบอลตู้และอาเขตเกมรายใหญ่ให้ราคา 50,000 ดอลลาร์ แต่บอสของ Namco ที่ชื่อมาซายะ นากามูระได้ทำให้ผู้ร่วมประมูลรายอื่นขนหัวลุกด้วยการเสนอราคาถึง 800,000 ดอลลาร์ มากกว่าเซก้าถึง 16 เท่าตัว แม้ว่าภายหลังนากามูระจะใช้ชั้นเชิงทางธุรกิจต่อรองลงมาจนเหลือแค่ 5 แสน บุชเนลก็ยังตอบตกลงเพื่อจะนำเอาเงินก้อนกลับไปหมุนที่อเมริกา ดังนั้น ในปี 1972 Namco จึงกลายเป็นเจ้าของ Atari of Japan ไปโดยปริยาย

    ฮิเดะ นากาจิมะวางแผนลาออกหลังจากที่เห็นว่าบริษัทมีผู้มารับช่วงต่อแล้ว เขาไม่อยากร่วมงานกับนัมโกโดยเฉพาะอย่างยิ่งนากามูระผู้มีชื่อลือกระฉ่อนในทางตุกติก มันดูแย่กว่าการทำงานกับบริษัทกระดาษด้วยซ้ำเพราะอย่างน้อยบริษัทนั้นก็มีชื่อเสียงมาเนิ่นนาน แต่นากามูระขอร้องให้ฮิเดะอยู่ต่ออีกสัก 3 เดือนเพื่อให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทาง (ก่อนหน้านี้ Namco เป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ชื่อ Nakamura Manufacturing Company การที่บริษัทประสบความสำเร็จจนเบียดขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการได้ ส่วนหนึ่งมาจากฐานเดิมที่มีอยู่ แต่สิ่งที่ทำให้ Namco ประสบความสำเร็จมากกว่าใครในวงการเกมตู้ก็คือการซื้อและเอาสิ่งที่อะตาริมีอยู่นี่แหละครับมาต่อยอด)

    ฮิเดะได้รับมอบหมายให้ขยายตลาดต่างประเทศของ Namco เขาประสบความสำเร็จด้วยการเพิ่มยอดขายจาก 5 พันดอลลาร์เป็น 5 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลาอันสั้น มาซายูกิ นากามูระชักทึ่งความสามารถของฮิเดะขึ้นเรื่อยๆจึงลงทุนขอร้องให้เขาอยู่ต่ออีกระยะหนึ่ง

    3 ปีต่อมาฮิเดะคิดว่าเขาอยู่ในธุรกิจวิดีโอเกมมานานพอที่จะก้าวหน้าต่อไปแล้ว และพบว่าการร่วมงานกับนากามูระจะเป็นไปด้วยดีหากคอยป้อนข้อมูลสำคัญให้อยู่เสมอ "นากามูระอาจเป็นคนที่ร่วมงานด้วยยากสักหน่อย แต่เขามีวิสัยทัศน์ที่ดีมาก" ฮิเดะกล่าว "ทุกคนคิดว่าเขาบ้าที่ซื้ออะตาริญี่ปุ่นด้วยราคาขนาดนั้น แต่มันคือความใฝ่ฝันของเขา และเป็นการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่าเอามากๆ"

    ตามข้อตกลงบุชเนลให้นากามูระเป็นตัวแทนของอะตาริในญี่ปุ่นเป็นเวลา 10 ปี Namco จึงกลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งวงการด้วยวิธีนี้ เพราะมีทั้งเกมของตัวเองและของอะตาริอยู่ในตลาด นอกจากนั้นนากามูระยังทยอยซื้อลิขสิทธิ์เกมอื่นๆจากภายนอก และสร้างหน่วยพัฒนาเกมขึ้นมาภายในบริษัท แต่ละเกมขายได้หลายพันชุด มีการสร้าง Arcade Center ของตัวเองและทยอยเอาเกมของอะตาริเข้าไปติดตั้ง นากามูระทำกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 5 เท่าจากที่เคยเป็นอยู่

    เพราะผลงานอันโดดเด่น ฮิเดะ นากาจิมะได้เลื่อนขั้นจากรองประธานอะตาริสาขาญี่ปุ่นเข้าไปร่วมนั่งเก้าอี้ของทีมบริหาร Namco ในปี 1978 ด้วย ฮิเดะขอร้องให้นากามูระพิจารณาข้อเสนอของการไปเปิดสาขาในอเมริกา เขาขอรับผิดชอบงานนี้ทุกอย่างซึ่งนากามูระก็โอเค ในตอนแรก Namco สาขาอเมริกามีพนักงานเพียงแค่ 2 คนคือประธานกับเลขานุการ และความที่อยู่ในอเมริกาจึงทำให้ชัดเจนเลยว่าพนักงานคนที่ 3 ต้องเป็นทนายแหงๆ


    [​IMG]
    (บน) หนึ่งในเกมตู้ยอดฮิตของ Namco ในยุค 80-90​



    [​IMG] Namco ซื้อ Atari Game

    บริษัทได้เดนนิส วู้ด อดีตพนักงานของบริษัท HP เข้ามาร่วมงาน นากาจิมะรับผิดชอบเรื่องเจรจาลิขสิทธิ์เกมตู้ส่วนวู้ดทำเอกสารลิขสิทธิ์และดูแลการจัดจำหน่าย เขาขายลิขสิทธิ์เกมตู้ของนัมโกให้กับหลายบริษัท เช่น อะตาริ(อเมริกา), แบรดลีย์ มิดเวย์, และเปิดแผนกสินค้าเพื่อขายลิขสิทธิ์ประเภทเมอแชนไดซิ่งโดยเฉพาะ เช่น ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนลาย PACMAN ทนายเหลี่ยมจัดคนนี้ได้กลายเป็นรองประธาน Namco สาขาอเมริกาและเป็นเบอร์สองรองจากนากาจิมะ สาขานี้ทำเงินให้ Namco อยู่ไม่น้อย และเกือบทุกสตางค์ที่มีในบริษัทล้วนเป็นผลกำไรเนื่องจากไม่มีต้นทุนด้านการบริหาร (ผู้บริหารในอเมริกาเงินเดือนแพงระยับมากครับ) "เราอยู่อย่างเติบโตเพราะค่าใช้จ่ายหลักมีแต่ค่าไฟกับเงินเดือนของเราสองคนเท่านั้น" วู้ดกล่าว

    นัมโกอเมริกายังคงเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งตลอดทศวรรษที่ 1980s มีอยู่ครั้งหนึ่งที่นากามูระมาที่อเมริกา เขาคุยกับฮิเดะระหว่างทานอาหารเย็นว่าอยากซื้อกิจการทั้งหมดของอะตาริ ฮิเดะแทบสำลัก เขาจ้องหน้านากามูระเพื่อค้นหาว่าเจ้านายของเขาพูดตลกอะไรอยู่

    "เอาจริงหรือครับ ผมไม่คิดว่าเราทำได้ อะตาริใหญ่กว่านัมโกเป็นร้อยๆเท่า" นากามูระตอบอย่างมั่นใจว่า "ฮิเดะซัง แล้วคุณจะได้เห็น ในที่สุดโอกาสจะเป็นของเรา"

    ในปี 1985 หลังอะตาริเจ๊งบ๊ง วอร์เนอร์โละส่วนต่างๆของอะตาริ(ที่ครั้งหนึ่งเคยทำรายได้เกือบทั้งหมดให้วอร์เนอร์) สตีฟ รอสส์บิ๊กบอสของวอร์เนอร์รู้ดีว่าธุรกิจวิดีโอเกมจะกลับมารุ่งเรืองในภายหลังจึงเก็บหุ้นบางส่วนของอะตาริเอาไว้ และแยกบริษัทออกเป็น Atari Corp. และ Atari Game เขาขาย Atari Corp. ซึ่งมีกิจการผลิตคอมพิวเตอร์ให้กับแจ็ค ทราเมียลอดีตบอสที่ถูกเตะออกมาจากคอมโมดอร์ ทราเมียลต้องการบริษัทคอมพิวเตอร์เพื่อเอาไปแก้แค้น Commodore และ Apple เขาไม่สนใจแผนกผลิตเกมของอะตาริเพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำไม สตีฟ รอสส์จึงได้แต่รออย่างหงุดหงิดเพราะกำจัดอะตาริได้ไม่ทันอย่างที่ใจคิด

    อะตาริก็เลยกลายเป็น 2 บริษัทที่ "ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ชอบขี้หน้ากัน" แดน แวน เอลเดอเรนแห่งอะตาริกล่าว "ข้ออ้างที่แต่ละฝ่ายพูดถึงอยู่เสมอก็คือ เรานี่แหละที่เป็นของแท้ เป็นอะตาริยุคก่อตั้ง" การแบ่งบริษัททำให้สถานการณ์ไม่สู้จะดี (คงจะคล้ายกับบางประเทศที่จู่ๆก็แตกคนออกเป็นสองสีสองฝ่าย แต่ละฝ่ายก็ตะโกนว่าตรูนี่แหละคนรักชาติตัวจริงเสียงจริง) เมื่ออะตาริกำลังเจอทางตัน ฮิเดะได้แจ้งไปยังนายของเขาว่าเวลาได้มาถึงแล้ว แม้จะขาดทุนจนเจ๊งแต่อะตารินับว่ามีสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่า มีวิศวกรมือฉมัง มีโปรแกรมเมอร์เก่งๆ และโรงงานเกมตู้ที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งยุคสมัย

    "มันเป็นการซื้ออนาคต..." เดนนิส วู้ดกล่าว "สิ่งที่ Namco ซื้ออาจเป็นเศษซากของบริษัทที่เคยมีการบริหารมาอย่างเหลวแหลก แต่มันเป็นบริษัทผลิตเกมที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา"
  6. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    [​IMG] Atari Game เดินเครื่องอีกครั้ง

    เจ้าของใหม่ของอะตาริได้บริหารอย่างเฉียบคมจนทำให้เกมดีๆเช่น Gauntlet ทำยอดขายได้มากขึ้น แต่รอยร้าวเริ่มปรากฏเมื่อฮิเดะ นากาจิมะเห็นว่าบอสของเขาคอยแต่จะฉุดอะตาริเอาไว้มากกว่าทำให้มันก้าวหน้า กล่าวคือแทนที่นากามูระจะทุ่มทุนลงไปให้กับอะตาริมากกว่าที่เป็นอยู่ เขากลับมองว่าบริษัทอเมริกันแห่งนี้คือคู่แข่งของ Namco ที่โตได้แต่ไม่ควรเกินหน้าบริษัทของเขา ความไม่พอใจดังกล่าวคุกรุ่นอยู่ในใจของฮิเดะตลอดมา เขาเริ่มต่อว่าระบบจัดจำหน่ายอันไร้ประสิทธิภาพในญี่ปุ่น นากามูระช่วยตอกย้ำปัญหาด้วยการวางนโยบายไม่ให้เกมตู้นำเข้าของอะตาริมีโอกาสแข่งขันกับเกมของ Namco ในญี่ปุ่นได้ ส่วนนากามูระเองก็แอบไม่ปลื้มอยู่เงียบๆที่บริษัทลูกอยู่ไกลเกินกว่าอำนาจของเขาจะครอบไปถึง เพื่อยุติปัญหาทั้งปวง ไทม์ วอร์เนอร์จึงช่วยฮิเดะซื้อหุ้นของอะตาริคืนจาก Namco ในปี 1987 ทำให้บริษัทกลับมาเป็นของวอร์เนอร์อีกครั้ง วู้ดและนากาจิมะจึงได้บริหารงานอย่างปลอดโปร่งเมื่อปราศจากนากามูระเข้ามายุ่มย่าม ทั้งสองเฝ้ามองการเติบโตของนินเทนโดอยู่เงียบๆและตกลงหันมาจับธุรกิจผลิตเกมให้นินเทนโด ซึ่งจะว่าไปมันง่ายมากๆในเมื่อบริษัทมีทรัพยากรที่จำเป็นอยู่พร้อมสรรพ ทั้งเงินและเกมยอดฮิตที่มีอยู่ในมือ แต่ยังติดปัญหาเล็กๆตรงที่ไทม์ วอร์เนอร์ได้ตกลงกับทราเมียลไว้ว่า Atari Game จะเข้าทำตลาดในชื่ออะตาริไม่ได้ พวกเขาเลยหาทางออกง่ายๆด้วยการตั้งบริษัทใหม่แม่มขึ้นมาเสียเลย

    ชื่อใหม่ถูกตั้งโดยนากาจิมะ โดยมีแนวคิดว่าถ้าชื่อดั้งเดิมของอะตาริมาจากเกมโกะ แผ่นกระดานที่ใช้เล่นโกะคือตัวแทนของจักรวาลในทัศนของคนญี่ปุ่น และศูนย์กลางของจักรวาลเรียกว่าเทนเจน ดังนั้นชื่อใหม่ในวงการของ Atari Game จึงมีชื่อว่า Tengen หรือจุดกำเนิดของทุกสรรพสิ่ง


    [​IMG]
    (บน) เกมยอดฮิตของ Atari ที่มีภาคต่อนับไม่ถ้วน Gauntlet​

    ผู้ที่เข้ามาเป็นเสาหลักของเทนเจนคือแดน แวน เอลเดอเรนผู้ซึ่งทำงานให้อะตาริมานานกว่าใครๆ เขาเริ่มงานเมื่ออายุ 23 ปี โดยเป็นพนักงานรุ่นแรกเมื่อครั้งบุชเนลยังบริหารงานอยู่ แวน เอลเดอเรนเป็นชายร่างสูงที่นิยมขลุกอยู่กับงานเทคนิคมากกว่างานบริหาร เป็นคนพูดจานุ่มนวลมีอารมณ์ขันขัดกับรูปร่างที่สูงใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็มีบางสิ่งที่แสดงถึงความมุ่งมั่นและอีกมุมอันน่ากลัวในชีวิตเขา นั่นคือสติ๊กเกอร์ที่แปะอยู่ที่ห้องทำงานส่วนตัว มันเป็นสติ๊กเกอร์ใหญ่โตเขียนคำว่านินเทนโดและทำเป็นรอยขีดฆ่าทับไว้

    ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้อะตาริกลายเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ของนินเทนโด เพราะบริษัทยังคงได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตเกมตู้ที่ดีที่สุด และยังคงเป็นชื่อที่ทำให้คนส่วนใหญ่นึกถึงวิดีโอเกม อารากาวาเป็นปลื้มที่ได้ร่วมงานกับอะตาริ เขาเคลิบเคลิ้มเมื่อนึกไปว่านี่แหละคือจุดประกาศชัยชนะที่แท้จริงของนินเทนโด บรรพบุรุษของธุรกิจวิดีโอเกมได้หมอบราบคาบแก้วให้กิจการของยามาอูจิแล้วในที่สุด

    กลางปี 1987 ฮิเดะ นากาจิมะและเดนนิส วู้ดได้เข้าเจรจากับอารากาวาเรื่องขอซื้อลิขสิทธิ์ผลิตเกม อะตาริขอสิทธิพิเศษบางอย่างจากนินเทนโด เป็นต้นว่าขอจัดจำหน่ายให้ได้มากกว่าปีละ 5 เกม ซึ่งอารากาวายังเล่นบทเดิมๆคือตีหน้าเศร้าเล่าความเท็จว่าเป็นไปไม่ได้ แม้ว่าใจจริงเขาอยากช่วยฮิเดะที่เป็นคนญี่ปุ่นเหมือนกัน แต่มันเป็นนโยบายของบริษัทที่เขาตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ สัญญาของทั้งสองบริษัทถูกลงนามในปี 1988 และปรับนู่นแก้นี่เป็นระยะๆ อารากาวาและลินคอล์นไม่มีทางรู้เลยว่านี่คือจุดเริ่มต้นของ "แผนเก็บนินเทนโด" ที่นากาจิมะและผู้บริหารของอะตาริซุ่มวางแผนกันมาล่วงหน้าเป็นเวลานานแสนนาน

    ฤดูใบไม้ร่วงในปีนั้น Tengen หรืออีกนัยหนึ่งอะตาริเกมได้กลายเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ของนินเทนโดอย่างเต็มตัว อารากาวาพยายามชดเชยการปฏิเสธเรื่องสิทธิพิเศษของนากาจิมะด้วยการพบปะกันบ่อยๆ ทานอาหารร่วมกัน หรือตอบข้อซักถามบางประการจากนากาจิมะ แม้จะแหม่งๆที่บางคำถามเป็นคำถามแปลกๆ เช่น การบริหารสินค้าคงคลัง การจัดการกับผู้ค้าปลีก แต่อารากาวาและลินคอล์นก็ให้ข้อมูลไปเพราะคิดว่าฮิเดะ นากาจิมะคงถามด้วยความอยากรู้ทั่วไปมากกว่าอย่างอื่น โดยไม่รู้ว่าพวกเขานั่นแหละที่เผลอยื่นหอกให้ศัตรูเอากลับมาทิ่มทวารตัวเองในภายหลัง



    [​IMG] เหตุแห่งข้อพิพาท

    เกมอันดับแรกของเทนเจนคือ RBI Baseball และ Gauntlet อันเป็นเกมตู้ยอดนิยม ทั้งสองเกมได้คะแนนลิบลิ่วจากทีมประเมินของนินเทนโด ฮิเดะพร้อมจะสั่งเกมจากนินเทนโดจำนวนมาก แต่โชคของเขาไม่ดีเอาซะเลยที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจในช่วงที่ชิปเกิดขาดแคลน นินเทนโดประกาศว่าจะจัดสรรโควต้าชิปอย่างเป็นธรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว NOA จะพิจารณาว่าบริษัทผู้ถือลิขสิทธิได้สั่งเกมมาเป็นจำนวนเท่าไหร่ แล้วค่อยจัดสรรจำนวนให้ตามที่ตนเห็นสมควร แต่บ่อยครั้งที่มีข่าววงในหลุดออกมาว่าหลายบริษัทต้องเลื่อนเวลาวางจำหน่ายเกมของตน เพราะนินเทนโดได้ยกเอาโควต้านั้นไปให้กับบริษัทอื่นที่ชอบพอหรือว่ามีเกมที่ดีกว่าและมาแรงกว่า

    แม้อารากาวาจะยืนยันว่านโยบายนี้โปร่งใสและเป็นธรรม แต่ผู้ถือลิขสิทธิล้วนไม่เชื่อลมปากเขา หลายบริษัทโจมตีว่านินเทนโดถือโอกาสนี้เข้ามาคุมธุรกิจวิดีโอเกม ที่ร้ายไปกว่านั้นคือ มีบริษัทจำนวนไม่น้อยได้กล่าวหาว่านินเทนโดจงใจบีบคอบริษัทอเมริกันให้ตายคามือ บริษัทเกมของญี่ปุ่นจะได้อยู่ในวงการนี้โดยปราศจากคู่แข่ง


    [​IMG]
    (บน) RBI Baseball เวอร์ชั่น NES ของ Atari Game​

    ฮิเดะ นากาจิมะไม่พอใจอย่างมากที่นินเทนโดลดจำนวนของที่สั่งลงไปครึ่งหนึ่ง แล้วก็ตัดลงเหลืออีกครึ่งหนึ่งในรอบที่สอง ท้ายที่สุดเทนเจนได้รับเกมเพียงไม่ถึง 1 ใน 4 ของที่สั่งไป ในเดือนธันวาคม 1988 เดน วอลซ์แห่งสมาคมผู้ผลิตซอฟต์แวร์กล่าวหานินเทนโดว่า "สมาคมฯเชื่อว่านินเทนโดอาศัยมาตรการควบคุมแบบเบ็ดเสร็จ เพราะการเป็นผู้ผลิตตลับเกมเพียงรายเดียวทำให้บริษัทอื่นไม่สามารถผลิตตลับเกมขึ้นมาแข่งกับนินเทนโดได้ ทางสมาคมเชื่อว่าการขาดแคลนดังกล่าวสามารถทดแทนได้ หากนินเทนโดให้บริษัทสามารถผลิตเกมบรรจุตลับได้ด้วยตนเอง" โฮเวิร์ด ลินคอล์นตอบโต้ถ้อยแถลงนี้ด้วยการบอกว่า นินเทนโดห่วงคุณภาพของสินค้าและสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้รับมากกว่าผลประโยชน์เฉพาะหน้าของผู้ถือลิขสิทธิ์ เขายืนยันว่านินเทนโดทำดีที่สุดแล้วในการช่วยเหลือพาร์ทเนอร์ร่วมธุรกิจของตน

    แดน แวน เอลเดอเรนถามนินเทนโดว่าจะอนุญาตให้เทนเจนขายสินค้าที่สั่งไปได้มากขึ้นหรือไม่ หากเทนเจนหาชิปที่ขาดแคลนนั้นได้ นินเทนโดตอบตกลงด้วยเงื่อนไขว่าถ้าชิปนั้นราคาแพงกว่าที่เป็นอยู่ เทนเจนต้องจ่ายเองในราคาส่วนต่างนั้น แวน เอลเดอเรนหาชิปดังกล่าวได้และส่งไปที่ญี่ปุ่นให้ NCL ตรวจสอบ คำตอบที่ได้รับกลับมาคือชิปยังไม่ได้มาตรฐาน

    แวน เอลเดอเรนเห็นว่าสาเหตุที่นินเทนโดตอบปฏิเสธส่วนหนึ่งมาจากชิปดังกล่าวเป็นของบริษัทอเมริกันและเกาหลี เขาขุ่นเคืองกับเรื่องนี้เอามากๆ "ไอ้ห่านจิก! เรากำลังหาชิปสำหรับตลับเกม ไม่ใช่ชิปสร้างคอมพิวเตอร์หรือยานอวกาศ" เดนนิส วู้ดก็เดือดจัดพอๆกัน "สมัยนี้คุณไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทใหญ่โตหรือมีเกียรติสูงส่งเพื่อผลิตชิปออกมาขาย ถึงมันไม่ง่ายเหมือนเดินหาซื้อตะปูในร้านอุปกรณ์ก่อสร้าง แต่มันจะต่างกันสักเท่าไหร่เชียว" เขายังอ้างอีกว่าได้ติดต่อไปยังบริษัทชาร์ปในญี่ปุ่นเพื่อขอซื้อชิป ในตอนแรกชาร์ปบอกว่ามีชิปสำหรับ Famicom ขาย แต่ด้วยอะไรก็ไม่ทราบได้ ชาร์ปออกมาปฏิเสธอย่างเป็นทางการในภายหลังว่าไม่มีชิปชนิดนี้อยู่...

    "มันทำให้เราต้องกลับมาคิดอย่างจริงจัง" วู้ดให้สัมภาษณ์ "ตอนนั้นเรารู้สึกตัวว่าเรากำลังโดนนิเทนโดเล่นตลก"

    สำหรับแดน แวน เอลเดอเรนเขาของขึ้นจนไม่มีอะไรมาฉุดอยู่ "พูดกันตรงๆนะเทนเจนก็คืออะตาริ อะตาริ!" เขากัดฟันกรอด "เราเป็นคนสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา 8 ปีแล้ว และเราไม่ต้องการให้กบเขียดที่ไหนมาบงการว่าเราควรต้องเล่นยังไงในสนามของเรา"

    เทนเจนถูกต้อนเข้ามุมจนขยับไม่ได้ นากาจิมะตัดสินใจว่าต้องทำอะไรสักอย่างกับนินเทนโด "จริงๆแล้วเรามีศักยภาพทางการตลาด อะตาริยังมีอำนาจล้นเหลือที่จะทำธุรกิจได้โดยไร้คู่แข่ง มีนินเทนโดรายเดียวเท่านั้นที่จะบีบคอเราให้ตายได้อย่างช้าๆ" เดนนิส วู้ดทิ้งท้าย "และเป็นฆาตรกรรมทางธุรกิจที่ถูกกฏหมายเสียด้วย"
  7. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    [​IMG] แผนโจรกรรม 10NES

    ย้อนกลับไปที่ปี 1986 เดนนิส วู้ดเคยให้ทนายความพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะผลิตเกมให้เครื่อง NES โดยไม่ติด Security Chip และไม่ผิดกฏหมาย ฝูงทนายของอะตาริตรวจสอบและพบว่าหากอะตาริทำเกมที่สามารถผ่านซิเคียวริตี้ชิปหรือที่รู้จักกันในวงการว่า ล็อคเอาท์ชิป ได้ ก็ถือว่าบริษัทไม่ได้ละเมิดอะไรของนินเทนโด (อันจะเป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องหรือเข้าคุก) แต่นั่นแปลว่าเทนเจนจะต้องพัฒนาชิปขึ้นมาหนึ่งตัวที่สามารถทะลวงผ่านปราการของล็อคเอาท์ชิปได้

    บนสมมติฐานที่ว่า ถ้าลูกค้าหรือตัวแทนจำหน่ายไม่ได้แคร์ตราประทับของนินเทนโด และขอให้เกมนั้นๆสามารถเล่นได้กับเครื่อง NES เป็นพอ อะตาริจะทำเงินได้มหาศาลเพราะไม่ต้องจ่ายค่าหัวคิวและไม่โดนจำกัดโควต้าการผลิต แวน เอลเดอเรนและทีมวิศวกรได้ทุ่มสุดตัวเพื่อหาทางปลดล็อคของ NES แต่พบว่ามันยากเกินกว่าเทคโนโลยีสมัยนั้นจะทำการถอดรหัสออกมาได้ แพต แมคคาร์ธีย์หัวหน้าวิศวกรของอะตาริสรุปไว้ในรายงานของโครงการนั้นว่า "เป็นไปไม่ได้ที่จะถอดรหัสของซิเคียวริตี้ชิป เรามีข้อเสนอขอให้บริษัทยุติโครงการ"

    แม้ทีมงานของอะตาริจะจนปัญญากับการถอดรหัส แต่อย่างน้อยพวกเขาก็ได้พบอะไรบางอย่าง ในตอนที่แยกชิ้นส่วนชิปออกมาศึกษา วิศวกรพบว่าระบบความปลอดภัยของ NES ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Lock out ที่จะทำงานเมื่อมีซอฟต์แวร์ไม่พึงประสงค์อยู่ในตัวเครื่อง มันจะปิดระบบไม่ยอมให้เครื่อง NES ทำงาน และอีกส่วนคือตัวรหัสผ่านที่เป็นชิปอยู่ในตลับเกม

    ซิเคียวริตี้ชิปที่นินเทนโดภูมิใจนักหนา ได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นสิ่งประดิษฐ์ลำดับที่ 4,799,635 ของสำนักงานสิทธิบัตรอเมริกา และมีอีกชิ้นเป็นรหัสคอมพิวเตอร์สำหรับทำการปลดล็อคที่เป็นที่รู้จักกันในนามของ 10NES (แฮ็คเกอร์และขา Emulator จะรู้จักกันดีครับ) ตอนแรกนินเทนโดไม่มีแผนจะจดทะเบียนเพราะทำให้ต้องมีการส่งสำเนาไปเก็บไว้ที่สำนักงานสิทธิบัตร แต่ทนายความที่ชำนาญการเรื่องนี้บอกลินคอล์นว่าเอกสารที่ถูกจัดเก็บนั้นมีความปลอดภัยสูงมาก ไม่มีใครสามารถเคลื่อนย้ายเอกสารออก คนที่เข้าไปก็ไม่สามารถพกอุปกรณ์บันทึกใดๆ(แม้กระทั่งกระดาษกับปากกา)ติดตัวไปได้ ลินคอล์นที่พอจะรู้ดีเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงจึงตอบตกลง


    [​IMG]
    (บน) Security Chip ที่ติดอยู่บนบอร์ดของตลับ Famicom และ NES​

    อย่างที่ทนายได้โม้เอาไว้ ระบบรักษาความปลอดภัยของสำนักงานสิทธิบัตรนั้นแข็งแกร่งมาก มาตรการและอุปกรณ์ไฮเทคที่มีไว้ป้องกันการจารกรรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น ต่อให้เป็นเจมส์ บอนด์หรือชอลิ้วเฮียงก็ยังต้องคิดหนัก น่าเสียดายที่อะตาริพบช่องโหว่เล็กๆที่จะนำเอกสารออกมาจากสำนักงานอย่างถูกกฏหมายได้ วิธีการนั้นคือ สิทธิบัตรทุกชิ้นสามารถทำสำเนาออกมานอกสำนักงานสิทธิบัตรได้ หากมีคำสั่งหรือจำเป็นต้องใช้เป็นพยานวัตถุในการพิจารณาคดีชั้นศาล งานนี้ไม่เห็นยาก ฟ้องนินเทนโดแม่มเลยก็สิ้นเรื่อง!

    อะตาริเกมได้จ้างสำนักงานกฏหมายแห่งหนึ่งทำคำร้องขอเอกสารชุดนั้น โดยอ้างต่อสำนักงานสิทธิบัตรว่าต้องใช้สำเนารหัสคอมพิวเตอร์ของ 10NES เพื่อระงับการพิจารณาคดีความระหว่างนินเทนโดกับอะตาริ ในคำร้องได้ระบุไว้อย่างหน้าไม่อายว่า "โปรแกรม 10NES จะถูกใช้ในการพิจารณาคดีเท่านั้น"

    ไม่กี่นาทีที่ไปถึงสำนักงานสิทธิบัตร ทนายความของอะตาริก็เดินกลับออกมาพร้อมสำเนาลิขสิทธิ์ 10NES ในกระเป๋าเอกสารอย่างสง่าผ่าเผย

    เนื่องจากเคยศึกษาชิปจนทะลุปรุโปร่งแล้ว พอมีเอกสารอยู่ในมือวิศวกรของอะตาริเลยไม่ต้องปวดหัวมาก พวกเขาทำงานอย่างง่ายๆเหมือนเด็กปีสี่ทำโปรเจ็คปริญญาตรี ด้วยการมี Source code พร้อม Comment อธิบายโปรแกรมพร้อมสรรพอยู่ในมือ อะตาริทำชิปของตัวเองขึ้นมาสำเร็จและเรียกมันอย่างไม่เป็นทางการว่า Rabbit นินเทนโดผู้น่าสงสารไม่ล่วงรู้เลยแม้แต่น้อยว่า ในขณะที่ฮิเดะไปตีซี้เพื่อศึกษาวิธีทำตลาดของพวกตนอยู่นั้น ทีมวิศวกรของอะตาริก็ได้ทำลายปราการด่านสุดท้ายของการผูกขาด เอ๊ย...ของ NES ได้สำเร็จ และพอเลยวันสิ้นปีในเดือนธันวาคมของปีนั้น เทนเจนหรืออีกนัยหนึ่งอะตาริก็ยื่นฟ้องร้องนินเทนโดในทันทีด้วยข้อหาผูกขาดทางการค้า


    [​IMG]
    (บน) ตัวอย่างสิทธิบัตรของ Lock out Chip และ 10NES​

    สาระสำคัญของข้อกล่าวหาคือ นินเทนโดใช้กลไกทางการตลาดกีดกันคู่แข่ง และใช้ล็อคเอาท์ชิปเป็นตัวป้องกันไม่ให้บริษัทอื่นสามารถผลิตตลับเกมขึ้นมาใช้ร่วมกับ NES ได้ ด้วยการผูกขาดการผลิตตลับเกมดังกล่าวนี้ ทำให้นินเทนโดสามารถควบคุมราคาสินค้าได้ ซึ่งถือว่าขัดต่อกฏหมายผูกขาดทางการค้า

    อารากาวาทราบเรื่องหลังฉลองเทศกาลคริสต์มาสของนินเทนโด เพราะลูกน้องของเขารายหนึ่งโทรมาบอกว่าเทนเจนกำลังให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่าทำ Reverse Engineering ของล็อคเอาท์ชิปสำเร็จ (รายละเอียดให้ถามตา Ob หรือลุงนุกครับ ผมขี้เกียจอธิบาย) และกำลังเริ่มผลิตเกมให้สามารถเล่นกับนินเทนโดได้โดยไม่ต้องผ่านล้อคเอาท์ชิป ในการแถลงข่าวเดนนิส วู้ดเปิดเกมรุกด้วยการตั้งคำถามว่า "อารากาวาและลิ่วล้อของพวกญี่ปุ่น มีอำนาจอะไรมาตัดสินว่าเสรีชนคนอเมริกันควรซื้อซอฟต์แวร์แบบไหน"

    บิ๊กบอสของ NOA ที่ยังไม่หายจากอาการเมาค้าถึงกับหูชาเมื่อลินคอล์นตะโกนสวนออกมาว่า "มิโน่! คุณลองเดาดูซิว่าไอ้ชาติปลวกพวกนั้นมันกำลังทำอะไรกันอยู่" ทั้งสองเริ่มทบทวนถึงเรื่องการคบหากับฮิเดะ นากาจิมะ หมอนั่นย่องเข้ามาตีสนิทกับทั้งคู่และดอดเก็บเอาความลับที่พวกเขาเผลอเล่าออกไปอย่างโง่เง่าที่สุด แฟกซ์ข่าวร้ายถูกส่งไปที่ญี่ปุ่น และมีการถ่ายทอดรายละเอียดกลับไปกลับมาระหว่าง NCL และ NOA ฮิโรชิ ยามาอูจิประกาศกร้าวว่า "เราต้องหยุดยั้งอะตาริ ไม่ว่าด้วยวิธีการใด"

    ทีมบริหารของ NOA ประชุมกันอย่างเคร่งเครียด ถ้าพวกเขาสามารถหยุดผู้ค้าปลีกไม่ให้จำหน่ายเกมและฟ้องกลับอะตาริข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ได้ นินเทนโดก็จะไม่บอบช้ำหนัก ลองนึกดูง่ายๆว่าถ้าผู้ผลิตซอฟต์แวร์สามารถบรรจุเกมลงตลับเองได้หมดโดยใช้เทคโนโลยีของอะตาริ นินเทนโดจะไม่เหลือเหยื่อให้ขูดรีดอีกต่อไป(ทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกา) ปัญหาคืออะตาริแก้ซิเคียวริตี้ชิปได้ยังไง เมื่อให้ทีมนักสืบลงมือแกะรอย พวกเขาพบว่าเทนเจนมาทำสัญญาทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่ากำลังหลอกพวกเขาอยู่ อะตาริพยายามจะทำรีเวิร์สเอ็นจิเนียริ่งมาตั้งแต่ต้น ผลคืองานคืบหน้าไม่ถึงไหนจึงสรุปปิดโครงการ แต่แล้วจู่รหัสลับของ 10NES ก็โผล่ออกมา

    "ห่านจวก ปลวกแ-ด-ก! มันต้องมีอะไรอยู่เบื้องหลังแน่ๆ" ลินคอล์นสบถ

    ฮิเดะ นากาจิมะนัดพบอารากาวาเพื่อเคลียร์ปัญหาที่เกิดขึ้น เขาแสร้งทำเป็นไม่ทราบเรื่องและบอกว่ามันเป็นการบีบคั้นจากฝ่ายบริหาร ทุกอย่างจะลงเอยด้วยดีและอาตาริจะถอนฟ้อง "ถ้าคุณยอมให้เราผลิตเกมเอง อารากาวาซัง"

    อารากาวาหันหลังเดินออกมาโดยไม่พูดอะไรสักคำ
  8. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    [​IMG] คดีความสะท้านโลก

    หลังจากนั้นศึกชิงผลประโยชน์ของสองบริษัทก็ได้เริ่มต้นขึ้น เทนเจนพยายามขายเกม NES ที่ไม่มีตราประทับของนินเทนโด และ NOA ก็ทำทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งการกระทำนั้น เมื่อกลายเป็นกบฏกุหลาบป่าที่ต้องอยู่ต่อหน้าจักวรรดิพาราเมเกีย กลุ่มนักรบที่มีนามว่าเทนเจนต่างก็สู้ยิบตาในสงครามที่ต้องอาศัย password เอ๊ย... รหัสลับในครั้งนี้

    นินเทนโดฟ้องกลับอะตาริทันทีเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ พ่วงด้วยข้อกล่าวหาของการฉ้อฉลทางธุรกิจด้วยการหลอกเอาข้อมูลสำคัญจากนินเทนโด อะตาริควรละอายที่กระทำเรื่องดังกล่าวทั้งที่นินเทนโดปฏิบัติต่ออะตาริอย่างโง่งม เอ๊ย... จริงใจเสมอมา

    เดนนิส วู้ดยักไหล่ไม่แคร์ข้อกล่าวหาที่สอง เขาบอกว่านินเทนโดกำลังหลงตัวเองอย่างผิดๆ ข้อมูลทางธุรกิจเหล่านี้อะตาริสามารถสืบหาเองได้จากตัวแทนขายหรือไม่ก็บริษัทผู้ถือลิขสิทธิ์รายอื่นๆ การผูกขาดของนินเทนโดและการบีบคั้นทางธุรกิจสารพัดวิธี ที่บริษัททำต่อเพื่อนร่วมวงการไม่ได้มีอะไรเป็นความลับแม้แต่น้อย นินเทนโดต่างหากที่ควรละอายในพฤติกรรมเอารัดเอาเปรียบที่ทำอยู่ เขายกตัวอย่างง่ายๆว่าเทนเจนทำเงินในปีนั้นได้ 40 ล้านดอลลาร์ ซึ่งในความเป็นจริงรายได้ที่ควรได้มียอดมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ ถ้าไม่ถูกหักหัวคิวรวมถึงจำกัดโควต้าการผลิตจากนินเทนโด (มีเสียงพึมพัมแสดงความเห็นด้วยจากผู้ถือลิขสิทธิ์เกือบทั้งวงการ)

    นินเทนโดตัดสินใจสั่งสอนเทนเจนด้วยการกดดันผู้ค้าปลีก โดยเวียนจดหมายให้บริษัททุกแห่งทราบว่า NOA จะดำเนินการกับบริษัทที่นำซอฟต์แวร์ของเทนเจนไปจำหน่ายในระหว่างที่คดีความยังไม่ถูกตัดสิน โดยระบุว่า "ถ้าบริษัทของท่านยังจัดให้มีการจำหน่ายสินค้าที่ลอกเลียนแบบ หรือสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของนินเทนโด เราจะดำเนินคดีตามกฏหมายจนถึงที่สุดอย่างไม่ละเว้น" งานนี้นำทีมโดยทนายหัวเห็ดจอห์น เคอร์บี้ ที่ไล่บี้ตัวแทนจำหน่ายอย่างไม่ไว้หน้า

    อะตาริเกมพยายามดิ้นรนขออำนาจศาลในการระงับการข่มขู่ตัวแทนจำหน่ายของนินเทนโด นั่นเท่ากับประกาศจุดอ่อนของตนให้คู่ต่อสู้เห็น นินเทนโดรุกหนักกว่าเดิม ตัวแทนจำหน่ายบางรายถูกฟ้องร้อง บางรายถูกฆ่าตัดตอนไปเงียบๆด้วยการงดส่งสินค้าให้


    [​IMG]
    (บน) เกมยอดฮิตบน NES ของ Tengen​

    "บริษัทเกมต่างๆไม่กล้าสั่งเกมของเราไปขายเพราะกลัวถูกนินเทนโดบีบไข่" นากาจิมะกล่าว "ขนาดบริษัทใหญ่ๆอย่าง Toys 'R Us ยังไม่กล้าขัดขืน"

    ตัวแทนของเทนเจนอ้างว่าการข่มขู่ไม่ได้เป็นไปอย่างโฉ่งฉ่างแต่ก็ได้ผล ตัวแทนของนินเทนโดอาจกระซิบเบาๆกับผู้จัดการแผนกว่า "คุณรู้หรือเปล่าเราอยากช่วยคนที่ช่วยนินเทนโด แต่ไม่สบายใจที่เห็นคุณขายเกมของเทนเจน" หลังจากเงียบเพื่อทิ้งเวลาให้อีกฝ่ายได้คิด เขาอาจพูดต่อว่า "เอาเถอะ คุณจะขายอะไรก็ขายไป เรามาคุยกันอย่างเพื่อนดีกว่า ลืมเรื่องอื่นไปซะแล้วบอกว่ามาว่าไตรมาสหน้าคุณต้องการสินค้าจากเราเท่าไหร่..."

    ตัวแทนจำหน่ายต้องยอมจำนนอย่างไม่มีทางเลือก เพราะถ้า NOA ไม่ส่งสินค้ายอดฮิตมาให้ ลูกค้าก็จะเฮละโลไปซื้อจากร้านของคู่แข่งที่อยู่อีกมุมหนึ่ง หรือแห่ไปซื้อยังเมืองอื่นที่มีของ นินเทนโดยังคงเดินเกมอย่างไม่ลดราวาศอกแม้ว่าศาลได้เริ่มเพ่งเล็งและหันมาสอบสวนเรื่องนี้ ตัวแทนขายปลีกรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า "ถ้าพวกเราขายสินค้าของเทนเจน NOA ก็จะตัดการส่งเกมให้พวกเราทันที ถามว่ามันผิดกฏหมายไหม ใช่สิมันผิดแน่ เพราะงั้นนินเทนโดถึงได้มีข้ออ้างสารพัด ที่พวกเราเจอกันบ่อยๆคือรถชน, สินค้าถูกโจรกรรม, ของยังมาไม่ถึงจากญี่ปุ่น คุณเชื่อคำพูดของตัวกินเห็ดพวกนั้นหรือเปล่าล่ะ?"

    ครั้นถึงเวลาขึ้นศาล อะตาริยืนยันอย่างหนักแน่นว่ารหัสที่ได้รับจากสำนักงานสิทธิบัตรนั้นไม่มีผลใดๆต่อการทำรีเวิร์สเอ็นจิเนียริ่ง ผู้พิพากษาเฟิร์น สมิธปฏิเสธที่จะเชื่อเรื่องนี้ เธอเป็นคนเฉียบคมและฉลาดพอที่จะไม่ตกหลุมของใครง่ายๆ เฟิร์นเขียนคำแถลงการที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือจนมีผลให้นินเทนโดชนะคดีในปี 1991 โดยให้ข้อสังเกตว่าอะตาริดำเนินการด้วยวิธีฉ้อฉล ข้อสรุปนี้ได้มาจากการเปรียบเทียบ code ของ Rabbit และ 10NES ว่ามีความคล้ายคลึงมาก งานนี้อะตาริเผลอตัวไปหน่อยเพราะพวกเขาทำ code ให้ไม่เหมือนต้นฉบับด้วยการแปะบางส่วนเพิ่มเติมลงไปจนยุ่งเหยิง แต่ถ้าผู้ชำนาญการพิจารณาดีๆแล้วจะพบว่า มีโค้ดส่วนเกินอยู่จำนวนมากที่ใส่ลงไปอย่างไม่มีความจำเป็น และมันก็ไม่ได้มีคำสั่งใดเลยในโค้ดหล่านั้นที่มีส่วนให้ Rabbit ทำงานได้

    ทั่วทั้งวงการต่างมองผลพิพากษาคดีนี้อย่างตกตะลึง มันคือฝันร้ายของบริษัทที่คิดจะลุกขึ้นมาดวลหมัดกับนินเทนโด อะตาริเกมยังไม่ยอมแพ้โดยฟ้องร้องนินเทนโดอีกครั้งในปี 1989 ข้อกล่าวหาในครั้งนี้คือนินเทนโดสร้างธุรกิจขึ้นโดยอาศัยเทคโนโลยีของผู้อื่น แดน แวน เอลเดอเรนกล่าวว่า "อะตาริยุคเริ่มแรกมีสิทธิเป็นเจ้าของอุปกรณ์ทุกชิ้นของวิดีโอเกม ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีสร้างภาพด้วยโปรแกรม แม้ว่าบริษัทจะไม่เคยไล่จับผู้ผลิตวิดีโอเกมนับไม่ถ้วนในเวลาที่ผ่านมา แต่บัดนี้บริษัทจะทำทุกทางเพื่อหยุดตัวแสบแห่งวงการอย่างนินเทนโด"

    อะตาริเกมไม่ได้โดดเดี่ยวในคดีความนี้เลยครับ มีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ยื่นฟ้องนินเทนโดในข้อกล่าวหาที่คล้ายๆกัน เช่นแมกนาวอกซ์ซึ่งขึ้นทะเบียนสิทธิบัตรชิ้นแรกๆเกี่ยวกับวิดีโอเกมกล่าวหาว่า นินเทนโดลอกเลียนแบบเทคโนโลยีที่ใช้ควบคุมการเล่นเกมบนหน้าจอ ส่วนบริษัทชื่ออัลเพ็กซ์ฟ้องนินเทนโดเรื่องการเชื่อมโยงไมโครโปรเซสเซอร์เข้ากับชิปและหน่วยความจำของทีวี นินเทนโดยอมความในคดีของแมกนาวอกซ์และอัลเพ็กซ์ โดยคดีทั้งสองได้ยืดเยื้อมาจนถึงปี 1992 ซึ่งชี้ให้เห็นว่านินเทนโดทำทั้งธุรกิจเกมและธุรกิจว่าความที่มีค่าใช้จ่ายแพงโค-ตะ-ระ แต่กับอะตาริเกมนั้นนินเทนโดต้องสิ้นเปลืองมากกว่า และยังเป็นข้อเตือนใจสำหรับวันข้างหน้า เนื่องจากมาตรการควบคุมซอฟต์แวร์ของนินเทนโดนั้นอาจถูกพิจารณาในแง่กฏหมายทั้งในญี่ปุ่นและอเมริกาด้วยเหมือนกัน


    [​IMG]
    (บน) ตัวอย่างสิทธิบัตรต้นแบบของแมกนาวอกซ์ และเครื่องโอดิสซีย์วิดีโอเกมรุ่นแรกๆ​

    เดนนิส วู้ดคู่กัดของโอเวิร์ด ลินคอล์นก็เหนื่อยไม่แพ้ใครๆ เขาคร่ำเคร่งอยู่กับการหาวิธีเอาชนะนินเทนโด บ่อยครั้งที่เขาต้องพักคลายเครียดด้วยการจิบชาพร้อมรำพึงรำพันว่า "เราจะไม่แพ้" ถึงแม้จะรู้ดีว่าตัวเองจะต้องถูกนินเทนโดสอยเอาด้วยโชริวเคนทุกทีที่เริ่มกระโดด

    คดีสำคัญที่ตามมาอีกหนึ่งคดีคือการฟ้องร้องโดยแจ็ค ทราเมียลที่กล่าวหาว่าข้อจำกัดในสัญญาผูกมัด 2 ปีของนินเทนโดนั้นไม่เป็นธรรม การทำสัญญาไม่ให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ดัดแปลงเกมไปเล่นบนแพลตฟอร์มอื่นได้เป็นเวลา 2 ปีนั้นกระทบต่อ Atari Corp. ของเขาและบริษัทอื่นเป็นอย่างยิ่ง เพราะเกมที่ดีเลิศถูกข้อสัญญาผูกมัดเอาไว้ แถมส่งผลต่อผู้พัฒนาเกมด้วยที่ทำให้ตลาดของพวกเขาแคบลงเนื่องจากไม่สามารถหากำไรจากเกมที่พัฒนาขึ้นมาได้ นอกจากขายมันบนแพลตฟอร์มของนินเทนโดและถูก NOA ฟันกำไรเอาจนหัวแบะ

    การฟ้องร้องทั้งสองคดี(ซึ่งล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับอะตาริ)มีผลตามมามากมาย ถ้านินเทนโดแพ้บริษัทต้องถูกปรับเป็นเงินมหาศาล คดีแรกของอะตาริทำเอานินเทนโดสูญเงินไปกว่า 500 ล้านดอลลาร์ (ซึ่งถ้าแพ้จะต้องเสียมากกว่านี้ 3 เท่าตัว และบริษัทอื่นในวงการก็จะตามน้ำกระโดดเข้ามาฟ้องด้วย)

    เทนเจนร้องขอต่อศาลให้ยกเลิกคำสั่งระงับการจำหน่ายเกมที่อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งผู้พิพากษาก็ได้อนุมัติตามคำขอ ทำให้เทนเจนสามารถขายเกมดังกล่าวเพื่อเอามาพยุงฐานะบริษัทได้ในปี 1991 ทว่าบริษัทต้องเหนื่อยหนักเมื่อศาลตัดสินให้พวกเขาแพ้คดีในปี 1992 และต้องตามเก็บเกมเหล่านั้นจากตลาดมาทำลายให้หมด ในขณะที่เทนเจนกำลังหอบหายใจอย่างเหน็ดเหนื่อย นินเทนโดได้ช่วยกระทืบซ้ำด้วยการยื่นฟ้องเทนเจน โดยศาลจะเริ่มไต่สวนคดีในเดือนพฤษภาคม ปี 1993

    โฮเวิร์ด ลินคอล์นไม่เชื่อว่าต้นตอของการฟ้องร้องจะมาจากนากาจิมะ วู้ด หรือ ทราเมียล "พวกนั้นแค่ฟ้องตามใบสั่ง เหมือนแร้งที่ตามจิกซากศพที่คนอื่นล่าทิ้งเอาไว้ ผมว่าต้องเป็นสตีฟ รอสส์แห่งไทม์ วอร์เนอร์ที่ต้องการกลับเข้าสู่ธุรกิจวิดีโอเกมอีกครั้ง มันเป็นโอกาสงามที่เขาจะได้เงินโดยไม่ต้องเหนื่อย" ลินคอล์นพูดพลางถอนหายใจ "คิดดูสิ ไม่ว่าเราจะอัดหนักแค่ไหน แต่พวกเขาก็ยังมีเงินเป็นฟ่อนกลับมาสู้คดีได้ทุกครั้ง"


    [​IMG]
    (บน) Steve Ross แห่ง Time Warner, AOL, HBO และอีกสารพัดกิจการยักษ์ใหญ่ของโลก​

    การที่ไทม์ วอร์เนอร์มีหุ้นส่วนใหญ่อยู่ในอะตาริทำให้ข้อสังเกตของลินคอล์นดูมีน้ำหนัก แต่รอสส์ปฏิเสธสื่อมวลชนที่จะให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ ตัวแทนของอะตาริเกมก็พูดซ้ำซากว่าคดีนี้เป็นเรื่องของอะตาริเท่านั้น ไม่มีงบลับ ท่อน้ำเลี้ยง หรือโฟนอินที่ไหนเข้ามาเกี่ยวข้องเลย แต่มีข้อสังเกตจากผู้บริหารวงในบางคนว่า "สำหรับสตีฟ เงินที่ได้จากคดีนินเทนโดน่าจะเป็นรางวัลปลอบใจที่ใช้ได้ อย่างน้อยที่สุดเขาน่าจะได้อะไรตอบแทนจากฝันร้ายของอะตาริบ้าง"

    คดีความของยักษ์ใหญ่แห่งวงการทั้งคู่ได้ดำเนินไปอย่างช้าๆ การสืบพยานและค้นหาความจริงกินเวลานับเป็นปี เขยิบวงกว้างออกไปทีละเรื่องสองเรื่อง มีการประชุมนับครั้งไม่ถ้วนและมีเอกสารประกอบคดีน้ำหนักเป็นตันๆ จุดยืนของนินเทนโดชักง่อนแง่นลงเรื่อยๆ บริษัทได้สร้างศัตรูเอาไว้มากเกินกว่าจะเอาตัวให้รอดจากสังเวียนโดยไม่เจ็บหนัก



  9. ake

    ake Black

    EXP:
    354
    ถูกใจที่ได้รับ:
    5
    คะแนน Trophy:
    18
    มันครับปู่ แต่งานนี้นินหนักแน่ เพราะลองมีรัฐบาลหรือประเทศเข้ามาเกี่ยวนี่ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆเลยนะนี่
  10. jpenguin

    jpenguin Admin Staff Member

    EXP:
    2,537
    ถูกใจที่ได้รับ:
    93
    คะแนน Trophy:
    113
    จุดกลางกระัดาน ฝรั่งอ่านเทนเจนเหรอครับ

    เป็นศัตรูกับอเมริกาเลยรึ...
  11. akamatsu

    akamatsu New Member

    EXP:
    862
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    0
    ดูเหมือนปู่นินแทบไม่มีพันธมิตรเลย แต่ละบริษัทที่มาทำสัญญาด้วยก็เพราะผลประโยชน์ทั้งนั้น
    พอไปกดดันมากๆเข้า เขาก็เลยหาทางถล่มเลยซะงั้น
  12. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    ไม่รู้เหมือนกันครับ เห็นต้นฉบับว่ามาอย่างนั้น เคยเจอคำคล้ายๆกันที่เป็นภาษาจีนในหนังสือของอีริค ฟอน ลัสเบเดอร์ (คนเขียน White Ninja) เค้าใช้คำว่า "ตันเจี้ยน" หรือ "ถานเจี้ยน" อะไรประมาณนั้น สงสัยต้องขอความอนุเคราะห์ผู้รู้เสียแล้วล่ะครับ

    ส่วนเรื่องรัฐบาลคงต้องรอดูล่ะครับว่ามาจากฝ่ายไหนและเป็นใคร แต่ที่แน่ๆไม่ใช่ทั่นประธานาธิบดี ^^
  13. terasphere

    terasphere Poets

    EXP:
    792
    ถูกใจที่ได้รับ:
    4
    คะแนน Trophy:
    38
    มันคือเท็นเง็น(เท็นเก็น)天元 ถ้าเรียกตามภาษาโกะล่ะครับ ฝรั่งจะออกเสียงเป็นเทนเจนก็ไม่น่าแปลกเนาะ
    แต่ถ้าคำนี้เป็นภาษาจีน จะอ่านว่า เทียนหยวน (tian yuan2)
    ส่วนอีกคำที่ว่ามา น่าจะเป็น ตันเถียน (dan tian2) หรือจุดตั้งชั้งของกำลังภายในมากกว่า

    ศึกครั้งนี้ของนินเทนโดใหญ่หลวงจริงๆ รอติดตามอ่านต่อด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน
  14. M2X

    M2X Active Member

    EXP:
    953
    ถูกใจที่ได้รับ:
    1
    คะแนน Trophy:
    38
    อูราาา~
  15. tales

    tales อัครเทวดาแมวเหมียว

    EXP:
    546
    ถูกใจที่ได้รับ:
    6
    คะแนน Trophy:
    88
    Save Point! ตามมาอ่านเรียบร้อยแล้วครับ (แปลครบทำหนังสือได้อีกเล่มนึงเลยนะเนี่ย)
  16. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    โอ้... ตกลงตันเจี้ยนคือจุดตังชั้งนี่เอง ขอบคุณมากครับเทร่า

    /me สมนาคุณเทร่าด้วยการส่งไปให้อาเบะทะลวงจุดยิ่มต๊ก
  17. Shion

    Shion Gamer

    EXP:
    609
    ถูกใจที่ได้รับ:
    3
    คะแนน Trophy:
    38
    save point อ่านยาวตั้งแต่ หน้า 2 ถึงหน้า 7 อ่านกันตาแฉะเลย
  18. Ryuune

    Ryuune Well-Known Member

    EXP:
    1,084
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    86
    save point ด้วยคนค่ะ

    สงครามธุึรกิจนี่ช่างลึกล้ำและน่าสะพรึงกลัวกันซะจริง ๆ

    แต่ขอตามมาอ่านดราม่าต่อเรื่อย ๆ 555+
  19. ultimaweapon

    ultimaweapon ULTIMA WEAPON

    EXP:
    4,247
    ถูกใจที่ได้รับ:
    8
    คะแนน Trophy:
    88
    save point อีกคน

    คิดถึงสมัยนั้น ตลับก๊อปหลุดมาได้ไง ป้องกันแน่ปึ้กขนาดนี้ เรื่องมันต้องต่อจากนี้สินะ
  20. Izabelle

    Izabelle New Member

    EXP:
    47
    ถูกใจที่ได้รับ:
    0
    คะแนน Trophy:
    0
    Save Point อีกครั้ง

    ในยุคนั้นของเรามีให้เล่นก็เล่นแหะ
    อยากให้เขียนมาถึงยุคนี้เร็วๆ จัง แต่เหมือนการทำเกมในยุคนู้น กับปู่นินในยุคนี้ บรรยากาศไม่ต่างกันเลยแหะ :hrian:
  21. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    Nintendo Drama part XIV: ซาโยนาระ คุณปู่ผู้สิ้นหวัง

    [attachment=458:icon-nes-control.jpg] หรือจะถึงคราวเจ๊ง...

    แม้จะแพ้การแข่งในเชิงการตลาด แต่นอกเกมอะตาริยังไม่ยอมแพ้ บริษัทหันไปพึ่งศาลและสภานิติบัญญัติของชาติ โดยชี้ชวนให้ทุกฝ่ายเห็นว่า กิจกรรมของนินเทนโดที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นกระบวนการผูกขาดที่กำลังทำลายประเทศ ธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมของนินเทนโดทำให้สหรัฐต้องเสียดุลย์การค้าให้ญี่ปุ่นปีละหลายพันล้านดอลลาร์!

    ฮิเดะ นากาจิมะและเดนนิส วู้ดค้นพบจุดอ่อนของนินเทนโดเข้าให้แล้ว นินเทนโดมัวแต่หลงไหลได้ปลื้มกับความสำเร็จของตนในสหรัฐโดยลืมมองไปว่าขณะนี้รอบตัวพวกเขา บริษัทต่างๆจากญี่ปุ่นกำลังถูกจับตามองจากรัฐบาลสหรัฐ รวมถึงเป็นประเด็นที่ชาวอเมริกันโดยรวมกำลังต่อต้านอยู่ และในไม่ช้าสภาคองเกรส สำนักอัยการสูงสุด และคณะกรรมาธิการทางการค้าของสหรัฐหรือ FTC ก็จับจ้องนินเทนโดบ้าง ว่ากันตามตรงแล้ว นากาจิมะซึ่งเป็นคนญี่ปุ่นสมควรหลีกให้ไกลจากข้อพิพาทนี้ แต่เขาก็ยังมุ่งเล่นงานนินเทนโดซึ่งเป็นบริษัทชาติเดียวกัน จึงเห็นได้ชัดเจนเลยว่าสงครามผลประโยชน์ครั้งนี้รุนแรงขนาดไหน ทุกฝ่ายต่างก็สู้กันเต็มที่แบบกะเอาให้ตายกันไปข้างเลยทีเดียว

    เหล่า สส. ในสภาเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าธุรกิจต่างๆของคนอเมริกันแทบโดนญี่ปุ่นยึดไปหมดแล้ว นอกจากธุรกิจวิดีโอเกมที่กำลังร้อนแรงก็ยังมีแนวโน้มว่าจะลุกลามไปยังธุรกิจคอมพิวเตอร์ที่คนอเมริกันนี่แหละเป็นผู้ให้กำเนิด ผู้แทนบางกลุ่มเริ่มเปิดประชุมลับๆใน Capital Hill ตามด้วยการแถลงข่าวให้ร้ายนินเทนโดแบบเกินจริง NES เป็นอุปกรณ์ที่ถูกขนานนามว่าม้าไม้เมืองทรอยเพราะมันคือของเล่นยัดไส้คอมพิวเตอร์ ที่ทำให้เกิดการขาดดุลย์การค้าส่วนใหญ่ในปีนั้น ท่าทีของเหล่า สส. ทำให้ผู้สื่อข่าวสายการเมืองกระโดดลงมาเล่นด้วย พวกเขาใส่สีตีไข่เสียจนนินเทนโดดูเหมือนวายร้ายที่เข้ามาบ่อนทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐโดยเฉพาะเลยทีเดียว

    ต้นปี 1992 ฮิโรชิ ยามาอูจิกลายเป็นคนมีชื่อเสียงในสหรัฐขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน เมื่อมีการประกาศว่าเขาจะซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ เอ๊ย... เดอะ มารีเนอร์ส ยอดทีมเบสบอลชั้นเมเจอร์ลีกของซีแอตเติล ปฏิกิริยาของประชาชนเป็นไปในทางลบ เพราะข่าวนี้ดันไปตีพิมพ์ในสัปดาห์เดียวกับที่สมาชิกรัฐสภาของญี่ปุ่นออกมาให้สัมภาษณ์ว่าคนอเมริกันมีนิสัยขี้เกียจ สิ่งที่เกิดขึ้นเพราะการพูดไม่คิดทำให้เกิดกระแสต่อต้านไปทั่ว คนอเมริกันไม่พอใจญี่ปุ่นอย่างหนัก "ด่าพ่อล้อแม่เรื่องยังจบ ด่าชาติที่เคารพคบไม่ได้" อะไรประมาณนั้น

    และการขอซื้อซีแอตเติลมารีเนอร์สจึงเป็นเหมือนความอดทนใยสุดท้ายที่ชาวอเมริกันมีต่อคนญี่ปุ่น "พวกมัน" บังอาจมาซื้อทีมเบสบอลของ "พวกเรา" นั่นน่ะของรักของหวงยิ่งกว่าทำเนียบขาวเชียวนะเฟ้ย!

    เนื่องจากเป็นช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง จึงมีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่หยิบเอานินเทนโดมาเป็นประเด็นเพื่อชูนโยบายสงครามการค้าญี่ปุ่น-สหรัฐ ผู้แทนราษฎรและผู้ที่ว่าแทนฯอีกหลายคนมองเห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถจะหยิบอะไรขึ้นมาสร้างกระแสประชานิยมได้ แม้ว่าสื่อมวลชนอีกหลายแหล่งพยายามที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจว่า แท้ที่จริงแล้วนายกเทศมนตรีของซีแอตเติลต่างหากที่มาขอร้องให้ยามาอูจิซื้อเดอะมารีเนอร์สเพื่อประคับประคองทีมเอาไว้ไม่ให้ย้ายออกไปจากซีแอตเติล แต่ไม่มีใครยอมฟัง


    [attachment=460:yamauchibaseball-ma01.jpg]​
    (บน) เรื่องวุ่นวายของยามาอูจิ ซีแอตเติล มารีเนอร์ส และลินคอล์นผู้เข้ามาคลี่คลายวิกฤต​

    เฟย์ วินเซ็นต์ คณะกรรมาธิการกีฬาเบสบอลแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์ว่า "เรายังต้องเก็บบางอย่างที่ทรงคุณค่าไว้ให้พ้นจากเงื้อมมือของพวกญี่ปุ่น" แต่ไม่ยักกะบอกว่าจะมีหน้าไหนเข้ามาประคับประคองมารีเนอร์สให้อยู่คู่ชาวซีแอตเติลได้บ้าง


    [attachment=457:icon-mario-1up.jpg] รัฐบาลสหรัฐร่วมเล่นงาน

    สถานการณ์ชักเลวร้ายลงเมื่อหน่วยงานสำคัญของประเทศทยอยเข้ามาจู่โจมนินเทนโดตามลำดับ เรื่องของเรื่องเกิดจากที่ผู้บริหารของอะตาริได้ร้องเรียนไปยังวอชิงตัน และได้รับความเห็นอกเห็นใจอย่างพิเศษจากประธานกรรมาธิการที่ดูแลเรื่องป้องกันการผูกขาดทางการค้า เขาชื่อเดนนิส เอคการ์ท สส.ดาวเด่นสังกัดพรรคเดโมแครตจากโอไฮโอ แวน เอลเดอเรนพยายามทำเรื่องให้ดูโปร่งใสโดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า คณะกรรมาธิการฯจับตามองพฤติกรรมชั่วร้ายของนินเทนโดอยู่นานแล้ว เรื่องนี้เป็นมติภาครัฐ โปร่งใส เป็นธรรม ไม่มีการเลียไข่นักการเมืองแต่อย่างใดทั้งสิ้น

    นอกจากแดน แวน เอลเดอเรนและเดนนิส วู้ดจากอะตาริ สส.เอคการ์ทยังเบิกตัวคนอื่นจากในวงการอีกนับสิบบริษัทเพื่อสอบปากคำ เขาหงุดหงิดที่ตัวแทนจากหลายบริษัทไม่ให้ความร่วมมือ เพราะหนึ่งบริษัทมีผลประโยชน์อยู่ และสองกลัวนินเทนโดเล่นงานเอา แต่อีกหลายฝ่ายซึ่งเจ็บแค้นนินเทนโดมาแสนนานยอมร่วมมือด้วย ผลการสอบสวนโดยคณะทำงานของเอคการ์ทยังคงบ่งชี้ว่านินเทนโดประสบความสำเร็จด้วยการผูกขาดและฉ้อฉล ต่อให้อะตาริไม่ต้องเป่าหูใดๆผลมันก็ออกมาอย่างนั้นอยู่แล้ว

    เอคการ์ทใช้ข้อกล่าวหาเรื่องซิเคียวริตี้ชิปและสัญญาผูกมัดมาเป็นประเด็นทางการค้าเพื่อเล่นงานนินเทนโด เขาย้ำว่ามันเป็นประเด็นเดียวกันกับที่รัฐบาลใช้จัดการ IBM เมื่อปี 1969 ในข้อหาที่ IBM พยายามจะผูกติดซอฟต์แวร์เข้ากับฮาร์ดแวร์ นอกจากผลกระทบที่นินเทนโดมีต่อผู้ประกอบการแล้ว การผูกขาดยังทำให้นินเทนโดสามารถกำหนดราคาสินค้าให้สูงกว่าที่ควรจะเป็นตั้ง 20-30 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเทศกาลคริสต์มาสที่ราคาสินค้าพีคขึ้นอย่างน่าใจหาย เอคการ์ทแถลงข่าวอย่างน่าฟังว่า "การผูกขาดของนินเทนโดสร้างความเดือดร้อนให้ชาวอเมริกัน เพราะต้องจ่ายเงินเกินความจำเป็นถึง 1 ใน 3 ของราคาสินค้า"

    โฮเวิร์ด ลินคอล์นได้ยินเรื่องการไต่สวนเมื่อมันดำเนินการมาจนจะจบอยู่รอมร่อ นายกสมาคมผู้ผลิตซอฟต์แวร์ถามว่าเขารู้หรือเปล่าว่าบริษัทกำลังโดนรัฐสภาสอบสวนอยู่ ลินคอล์นตกใจมากและใช้ตัวแทนให้ยื่นคำร้องเพื่อขอโอกาสชี้แจง แต่ถูกสภาเลื่อนนัดทุกครั้ง หลังจากมีการสอบสวนพยานกว่า 60 ราย คณะกรรมการฯก็ประกาศว่าจะแถลงผลการสอบสวนเรื่องนี้ต่อสาธารณชน

    นั่นยิ่งทำให้ลินคอล์นอึ้งอิมกี่เมื่อรู้ว่าคณะกรรมการฯจะแถลงข่าวกันในวันรุ่งขึ้น (ทั้งที่เบี้ยวนัดการชี้แจงของนินเทนโดถึงสามครั้ง) ทนายความคนเก่งตะโกนลั่น "นี่มันอะไรกันวะ! พวกเขาทำได้ยังไง คณะกรรมการประเภทไหนที่ไต่สวนเรื่องราวโดยไม่เคยสอบถามอะไรจากอีกฝ่ายเลย" ลินคอล์นจัดการลงทุนโทรหาคณะกรรมการฯด้วยตนเอง และแทบจะกลั้นโทโสไว้ไม่อยู่เมื่อได้คุยกับทนายความของคณะกรรมการฯ "รู้มั๊ย ผมไม่เคยได้ยินเลยว่าพวกคุณทำอะไรกัน มันยุติธรรมหรือเปล่าที่พวกคุณจะสอบสวนและประกาศผลโดยที่ไม่ให้โอกาสกับเราแม้แต่จะพูด ประเทศนี้มันเป็นอะไรไปแล้ว?" เขาขอโอกาสให้ได้คุยโดยตรงกับประธานกรรมการฯ ซึ่งก็ได้รับโอกาสนั้น

    ท่านสมาชิกเอคการ์ทมารับสายอย่างใจเย็น และบอกลินคอล์นว่าเรื่องต่างๆมันจบแล้ว

    "จบหรือครับ?" ลินคอล์นชักเดือด "ฟังผมพูดซักนิด ทีมของท่านไม่เคยสอบปากคำอีกฝ่ายหนึ่งเลย ท่านไม่เคยได้รับเอกสารชี้แจงจากเราแม้แต่ฉบับเดียว" แต่เอคการ์ทปฏิเสธที่จะเปลี่ยนใจ ลินคอล์นเลยว๊ากใส่ว่า "แถลงข่าวในวันพรุ่งนี้ พระเจ้า! ท่านก็รู้ว่ามันวันอะไร"

    เอคการ์ทตอบว่าเขาไม่รู้

    "พรุ่งนี้น่ะเหรอ ก็วันที่ 7 ธันวาคมน่ะสิครับ ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ" ลินคอล์นตะโกน

    ถึงลินคอล์นจะวิงวอนขนาดไหน แต่เอคการ์ทก็ยืนยันจะแถลงข่าวตามกำหนดการเดิมให้จงได้ ในเมื่อทุกอย่างดำเนินไปตามลิขิตฟ้า การแถลงข่าวของคณะกรรมาธิการทางการค้าก็ได้เริ่มต้นขึ้น...

    ...แม้ว่าเอคการ์ทจะทำเป็นลืม แต่ประชาชนทั่วประเทศคงไม่มีวันลืม มันคือวันที่ 7 ธันวาคม วันเดียวกับที่กองทัพญี่ปุ่นโจมตีอ่าวเพิร์ล ฮาร์เบอร์ในสงครามโลกครั้งที่ 2



    [attachment=459:pearl_Harbor_USS.jpg]​
    (บน) พวกมันกำลังลอบทำลายเรา เหมือนกับที่มันทำไว้ที่เพิร์ล ฮาเบอร์​

    สื่อมวลชนแห่กันมาทำข่าวเรื่องนี้กันอย่างถล่มทลาย บรรดาพ่อแม่ชาวอเมริกันที่เกลียดนินเทนโดต่างก็ภาวนาให้บริษัทนี้ถึงคราเจ๊ง แต่ไม่ใช่กับทุกคน... หนังสือพิมพ์หลายแห่งลงบทวิเคราะห์ว่าการสอบสวนเรื่องนี้ส่งกลิ่นแปลกๆ วารสาร The Wall Street Journal เขียนบทวิเคราะห์เรื่องนี้ด้วยมุมมองที่ตรงไปตรงมาว่า "มันเป็นการเอารัดเอาเปรียบจนทำลายธุรกิจนี้จริงหรือไม่? มีบริษัทกว่า 50 แห่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทอเมริกันกำลังเติบโตจากธุรกิจนี้ แต่อะตาริและบริษัทในเครือคือเทนเจนกลับไม่พอใจข้อตกลงและโจมตีนินเทนโด มีบางอย่างผิดปกติในตัวกฏหมายและระบบการเมืองในประเทศของเราที่เข้าข้างอะตาริอย่างเต็มที่ มันไม่ใช่การแข่งขันอย่างตรงไปตรงมา" และวอลสตรีทเจอร์นัลยังเขียนถึงอะตาริในทำนองที่ว่า บริษัทควรใช้เวลาในการพัฒนาสินค้าเพื่อการแข่งขัน มากกว่าคอยทำตัวขี้ฟ้องหรือเที่ยวเลียไข่นักการเมือง

    หลังแถลงข่าวจบ เอคการ์ทบอกสาธารณชนว่าคณะกรรมการฯจะส่งสำนวนต่อไปยังสำนักอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีต่อไป ลินคอล์นผู้ติดตามเทปแถลงข่าวถึงกับระเบิดทุกอย่างออกมาอย่างหมดความอดทน "พระเจ้า! ไอ้หมอนี่มันมีไมโครโฟนจ่อปากมากกว่าสมัยรุสเวลต์ประกาศสงครามซะอีก แม่มแพล่มไปทุกเรื่องตั้งแต่การคุมราคาไปจนถึงเรื่องโกงเทนเจน ร้อยทั้งร้อยก็ตามบทที่เทนเจนเตี๊ยมไว้ทั้งนั้น นี่มันบ้าอะไรกันวะ!"

    อีกด้านหนึ่ง เหล่าผู้บริหารของอะตาริพากันฉลองชัยชนะอย่างปลาบปลื้ม มีการแถลงข่าวชื่นชมรัฐบาลและท่านวุฒิสมาชิกเอคการ์ท นอกจากนี้อะตาริยังออกหนังสือปกขาวจำนวน 12 หน้า ส่งให้เจมส์ ริลล์แห่งสำนักอัยการสูงสุดเพื่อให้รายละเอียดเกี่ยวกับการผูกขาดของนินเทนโด (เผื่อจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาคดี อะตาริว่าไว้อย่างนั้น) ทีแรกสำนักอัยการฯยังคงนิ่งอยู่ด้วยความไม่แน่ใจ จนเมื่อสื่อมวลชนตามกลิ่นดราม่าไปสัมภาษณ์ว่าสำนักอัยการฯจะทำอย่างไรต่อเท่านั้นแหละ การประกาศลงมือไต่สวนก็ได้เริ่มขึ้นทันที

    เอคการ์ทยังนำเรื่องนี้เข้าสู่สภาสูง ชี้นำให้เห็นความน่ากลัวของการครอบงำธุรกิจ และวิธีเลี่ยงกฏหมายที่นินเทนโดใช้เพื่อเข้าถึงครัวเรือนอเมริกันกว่า 18 ล้านครัวเรือน นินเทนโดเป็นหนึ่งในบริษัทต่างชาติที่ไม่ได้เกรงกลัวกฏหมายป้องกันการผูกขาด คณะกรรมการฯได้ใช้ข้อหานี้จัดการกับบริษัท AT&T, IBM และไมโครซอฟต์ทั้งที่เป็นบริษัทอเมริกันมาแล้ว บริษัทต่างชาติอย่างนินเทนโดไม่ควรได้รับข้อยกเว้น "มันเป็นนโยบายภาครัฐที่ยังดำเนินมาตลอดทุกยุค ทุกสมัย และทุกประธานาธิบดี ท่านประธานที่เคารพครับ... คราวนี้เป็นโอกาสของท่านบ้างแล้ว ที่จะต้องทำหน้าที่นี้..." เขากล่าวกับประธานสภาด้วยท่วงท่าของอัศวินผู้กล้าหาญ (ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับบริษัทขายของเล่น)

    แดน แวน เอลเดอเรนผู้เกลียดชังนินเทนโดกลับไม่กระตือรือร้นเท่าไหร่ เขาหลีกเลี่ยงการโจมตีญี่ปุ่นโดยตรงและชี้ว่า "ปัญหาไม่ได้เกิดจากประเทศใดประเทศหนึ่ง ประธานบริษัทของเรา มิสเตอร์ฮิเดะ นากาจิมะก็เป็นคนญี่ปุ่น ปัญหาของเราเกิดจากบริษัทเดียว นั่นก็คือนินเทนโด"


    [attachment=456:atari-breaks-s01.jpg]​
    (บน) Atari ที่หวังจะกลับมายิ่งใหญ่หลังปี 1986 ซึ่งเป็นไปได้สูงถ้าไม่มีนินเทนโดขวางอยู่​

    การไต่สวนโดยสภายังคงดำเนินไป ในขณะที่สำนักอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วพบว่าคดีของนินเทนโดควรมอบอำนาจให้ FTC หรือคณะกรรมาธิการทางการค้ารับผิดชอบเพราะเป็นเรื่องทางการค้าโดยตรง ด้วยการขอความร่วมมือจากอัยการในหลายๆรัฐ FTC เริ่มไต่สวนคดีการผูกขาด ควบคุมราคา และผลของเทคโนโลยีล็อคเอาท์ชิปต่อตลาดซึ่งกินเวลายืดเยื้อนานนับปี
  22. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    [attachment=461:icon-famicom-control2-1.jpg] เมื่อนินเทนโดเริ่มผ่อนปรน

    ในขณะที่ NOA กำลังดิ้นสุดชีวิตเพื่อให้หลุดพ้นจากคดีความ ฮิโรชิ ยามาอูจิผู้ให้กำเนิดบริษัทเกมแห่งนี้กลับมองเรื่องต่างออกไป สำหรับเขาแล้ว FTC และคดีผูกขาดในอเมริกาเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่ต้องหาทางออกทีละเปลาะ อย่างไรก็ตาม ท่านประธานไม่ประมาทในหายนะที่อาจจะเกิดขึ้น เขาและอารากาวาเตรียมงานอย่างจริงจังเพื่อหาตลาดอื่นมาทดแทนอเมริกา (ในที่กรณีที่เรื่องมันเลวร้ายสุดๆ) บริษัทเร่งเดินหน้าทำตลาดที่ยุโรป และพร้อมจะเดินย้อนรอยของโคลัมบัส หากนิวเวิร์ลด์แห่งนี้ไม่มีที่ให้นินเทนโดยืนอีกต่อไป

    เดือนตุลาคม 1990 นินเทนโดทำจดหมายเวียนถึงผู้ถือลิขสิทธิ์อย่างเงียบเชียบ ว่าด้วยนโยบายผ่อนปรนซึ่งเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางอย่างในการผลิต เช่น ยอมให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ผลิตเกมบรรจุตลับขึ้นมาเอง และเนื่องจกานโยบายนี้ไม่ได้มีการประกาศเป็นทางการต่อหน้าสาธารณชน นินเทนโดจึงอ้างได้ว่านโยบายใหม่นี้ไม่ได้ทำไปเพราะถูกกดดัน หรือเพื่อให้บริษัทหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาในคดีความ

    นโยบายของนินเทนโดฟังดูดี แต่มีผู้ผลิตเพียง 2-3 รายเท่านั้นแหละที่ผลิตเกมได้เอง ถึงอย่างนั้นพวกเขายังต้องสั่งซิเคียวริตี้ชิปที่ใช้ในตลับเกมจากนินเทนโดอยู่ดี ค่ารอยัลตี้ที่ต้องจ่ายก็ไม่ได้ลดลง แต่สำหรับผู้ถือลิขสิทธิ์แล้ว อย่างน้อยนโยบายนี้ก็ทำให้พวกเขากำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้บ้าง ไม่มีใครอยากเผชิญวิกฤตการณ์ชิปขาดแคลนอีกแล้ว

    นอกจากนี้นินเทนโดยังประกาศยกเลิกสัญญาผูกมัด 2 ปี เพื่อให้ผู้ถือลิขสิทธิ์สามารถดัดแปลงเกมของตนเพื่อนำไปขายบนแพลตฟอร์มอื่นได้ (ยังผลให้ผมได้เล่น Rockman และ Contra บนเครื่อง Mega Drive) เมื่อมีคำถาม นินเทนโดแถว่าที่ทำอย่างนี้เพราะบริษัทเห็นว่ามาตรการควบคุมคุณภาพผ่าน Nintendo Power นั้นได้ผลดีอยู่แล้ว ฝีมือของผู้ถือลิขสิทธิ์ก็ดีขึ้นจนไม่ต้องกังวลเรื่องเกมด้อยคุณภาพล้นตลาดอีก ผู้ถือลิขสิทธิ์ก็น่าจะพอใจที่มีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้นด้วย

    "อ๋อ เหรอ..." ผู้ถือลิขสิทธิ์รายหนึ่งให้สัมภาษณ์ "แต่บริษัทของผมยังยืนยันว่าเรามีความสุขที่จะผลิตเกมให้นินเทนโดเพียงค่ายเดียว การทำเกมให้คู่แข่งของนินเทนโดนั้นคือความทุกข์ เพราะรู้ๆกันอยู่ว่าซักวันนินเทนโดต้องหาทางแก้เผ็ดเอา" แวน เอลเดอเรนวิจารณ์พฤติกรรมของนินเทนโดว่ากินปูนร้อนท้อง เขาคาดเดาว่าบริษัทอาจโดนกดดันจาก FTC แต่นินเทนโดปฏิเสธเรื่องนี้ ส่วนทาง FTC ไม่ขอให้ความเห็น

    เมื่อข่าวกระจายออกสู่สาธารณชน ปฏิกิริยาของคนอเมริกันดูเป็นไปในทางที่ดีขึ้น อันที่จริงนโยบายผ่อนปรนของนินเทนโดอาจเป็นผลพวงมาจากการกดทันของ FTC หรืออาจเป็นอีกวิธีที่จะลดความสูญเสีย คิดดูง่ายๆว่าถ้านินเทนโดแพ้คดีปุ๊บ จะมีผู้ถือลิขสิทธิ์อีกจำนวนมากที่เลียนแบบอะตาริโดยการกระโดดออกมาฟ้องร้อง รายชื่อของคนที่เกลียดขี้หน้านินเทนโดนั้นสั้นอยู่เสียเมื่อไหร่ล่ะ ทนายของนินเทนโดคำนวณแล้วว่าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ค่าเสียหายที่บริษัทต้องจ่ายอาจสูงถึงหนึ่งพันล้านดอลลาร์ก็เป็นได้


    [attachment=467:nes4-chrome.jpg]​

    ข้อเท็จจริงก็คือ ภายใต้หน้าฉากของการกระทำที่เรียกว่าผ่อนปรน นินเทนโดยังคงมีอำนาจล้นเหลือที่จะควบคุมธุรกิจนี้ บริษัทที่ผลิตเกมเองได้ล้วนแต่เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์รายใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับนินเทนโดมาอย่างยาวนาน ใครหน้าไหนมันจะกล้าทุบหม้อข้าวตัวเองโดยการทำตัวมีปัญหากับนินเทนโดล่ะ? ดังนั้น ต่อให้ในอนาคตนินเทนโดทำเป็นวางเฉยไม่ตามบีบเรื่องราคา การผลิตออกมาปีละหลายๆเกม หรือไม่เอาผลการจัดอันดับเกมขึ้นมาขู่ ผู้ถือลิขสิทธิ์ก็แจ้งแก่ใจกันอยู่แล้วว่าต้องเล่นตามบทแบบไหน ถึงจะไม่ขัดกับประสงค์ของนินเทนโด

    การไต่สวนของ FTC เริ่มเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบในปี 1991 กระบวนการดังกล่าวอาศัยความร่วมมือของอัยการจากนิวยอร์ค และแมรี่แลนด์ ข้อกล่าวหาที่รัฐมีต่อนินเทนโดคือการควบคุมราคา และพยายามสอบสวนข้อเท็จจริงที่ว่า จริงหรือไม่ที่นินเทนโดคือตัวปั่นราคาของฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ในตลาดเกมให้สูงกว่าที่ควรเป็น ตัวแทนบริษัทขายส่งและร้านของเล่นในหลายรัฐถูกเชิญไปให้ปากคำ แต่ไม่ยักมีใครปริปากเล่นงานนินเทนโดแบบตรงๆ ผู้จัดการคนหนึ่งให้การว่า "การทำธุรกิจกับนินเทนโดก็เป็นเรื่องตรงไปตรงมาธรรมดานั่นแหละคู๊น ถ้ายอมรับเงื่อนไขของเขาได้เขาจะช่วยเหลือคุณทุกอย่าง แต่ถ้าคุณทำให้เขาโมโหล่ะก็นะ นินเทนโดจะบีบไข่คุณจนหน้าเขียวเชียว"

    ไม่นานนักลินคอล์นก็ได้รับการแจ้งมาว่า FTC จะตัดสินลงโทษนินเทนโดสถานหนักยกเว้นจะมีการประนีประณอม เขาเอาเรื่องนี้มาปรึกษาเคอร์บี้และอารากาวา ทุกคนตกลงใจที่จะเซ็นยินยอม "ถ้าทำให้เรื่องมันจบได้" ในการประชุมครั้งต่อมากับบรรดา สส.ของนิวยอร์คและแมรี่แลนด์ (สส.บ้านเค้าน่ารักตรงที่ชอบทำตัวเป็นตัวแทนประชาชน และยุ่งเกี่ยวทุกเรื่องที่ทำให้คนในพื้นที่เลือกตั้งของเขาเสียผลประโยชน์) มีผู้เสนอว่านินเทนโดควรคืนกำไรให้กับประชาชนบ้าง โดยเฉพาะคนที่ถูกนินเทนโดเอาเปรียบด้วยการขายสินค้าราคาแพงๆ


    [attachment=466:icon-famicom-control2.jpg] คำแถลงของอัยการ

    ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่านินเทนโดต้องเลิกควบคุมราคา ไม่ลดปริมาณสินค้าที่จะจัดส่ง รวมถึงไม่กำหนดวันชำระหนี้ที่แตกต่างกันโดยพิจารณาจากสถานะทางการเงินของตัวแทนจำหน่าย

    อัยการโรเบิร์ต อับบรามส์แถลงการที่วอชิงตัน ดีซี. ในเดือนเมษายน 1991 ด้วยถ้อยคำอันรุนแรงว่า นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ FTC ต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับสงครามควบคุมราคา เขาวิจารณ์นินเทนโดว่าทำตัวน่าเกลียดโดยการเที่ยวบีบคั้นให้บริษัทต่างๆยืนราคาเกมไว้ที่ 99 ดอลลาร์อย่างไม่ยอมให้ลด ใครที่ขัดขืนจะถูกตัดเชือกหรือไม่ก็เตะถ่วงไม่ยอมส่งสินค้าให้ กรณีร้ายแรงที่สุดที่นินเทนโดทำก็คือบีบจนบริษัทขายของเล่นยักษ์ใหญ่รายหนึ่งเกือบล่มจม เพียงไปประกาศลดราคาลง 6 เซ็นต์ "นินเทนโดทำราวกับเงิน 6 เซ็นต์ที่ลดนั้นคือกำไรก้อนสุดท้ายที่พวกเขามี" อับบรามส์กล่าว เขายังเสริมอีกว่าคณะทำงานของเขาจะต้องทำให้เรื่องนี้ได้รับความสนใจจากผู้บริหารระดับสูงของประเทศทั้งในอเมริกา ญี่ปุ่น และทุกๆประเทศที่คิดจะติดต่อค้าขายกับอเมริกา แต่ท้ายที่สุดเขาประกาศบทลงโทษที่มีต่อนินเทนโด

    คำพิพากษาของสำนักอัยการฟังดูแล้วเหลือเชื่อ อับบรามส์ประกาศให้นินเทนโดส่งคูปองมูลค่า 5 ดอลลาร์ให้กับคนอเมริกันทุกคนที่ซื้อ NES ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 1988 จนถึง 31 ธ.ค. 1990 คูปองนี้สามารถใช้แทนเงินสดเมื่อซื้อสินค้าของนินเทนโดได้ โดยภาพรวมการลงโทษครั้งนี้ฟังดูน่ากลัว เพราะนั่นหมายถึงนินเทนโดต้องจ่ายเงินฟรีไม่ต่ำกว่า 25 ล้านดอลลาร์ ว่ากันว่าไอเดียนี้มาจากสมองของปีเตอร์เมนที่เสนอมันต่อคณะกรรมาธิการของ FTC การคืนกำไรกว่า 20 ล้านดอลลาร์ให้กับชาวอเมริกันฟังดูเป็นเรื่องดี แต่ให้ตายเถอะครับ จริงๆแล้วมันเป็นแผนโปรโมชั่นมากกว่าบทลงโทษ แถมยังแสดงให้เห็นถึงความบ่มิไก๊ของหน่วยงานภาครัฐที่ลงมาจัดการกับเรื่องนี้

    สื่อมวลชนรายหนึ่งวิจารณ์ว่าคนที่สมควรโดนประณามไม่ใช่นินเทนโดหากแต่เป็นหน่วยงานภาครัฐพวกนั้น อับบรามส์ประกาศชัยชนะให้กับประชาชน และคนส่วนใหญ่ก็ดีใจที่ขูดขนหน้าแข้งของนินเทนโดได้กว่า 20 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ในความเป็นจริงหากพวกเขาอยากใช้ประโยชน์จากคูปองดังกล่าว พวกเขาต้องเสียเงิน 20-70 ดอลลาร์เพื่อซื้อสินค้าของนินเทนโด (จากนั้นก็ยืนคูปองเพื่อขอส่วนลด 5 ดอลลาร์) มันคือแผนเอาปลาเล็กไปล่อปลาใหญ่ชัดๆ อับบรามส์กับคณะทำงานของเขาน่าจะเอาเวลาไปหัดเล่น Super Mario มากกว่าที่จะทำให้เรื่องจบลงแบบนี้

    นินเทนโดแถลงข่าวว่าบริษัทต้องได้รับความอับอายกับข้อหาที่ไม่เป็นความจริง ถึงจะเจ็บปวดกับการถูกตราหน้าว่าเป็นนักปั่นราคา นินเทนโดก็จะยืนหยัดเพื่อลูกค้าให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ FTC แถลงว่าถึงอย่างไรก็จะไม่รามือจากเรื่องนี้ นินเทนโดหลุดข้อหาควบคุมราคาแล้วก็จริง แต่ประเด็นของนโยบายลิขสิทธิ์และล็อคเอาท์ชิปยังรอการตัดสินอยู่ ผู้บริหารภาครัฐหลายคนระบุว่าคดีที่อะตาริฟ้องร้องเรื่องการผูกขาดจะต้องได้รับการพิจารณาที่จริงจังกว่านี้ ถ้านินเทนโดผิดก็จะลงโทษอย่างหนัก ถ้าไม่ผิดก็ถือว่ายุติการสอบสวนไป


    [attachment=464:blockbuster.gif] กระหน่ำบล็อคบัสเตอร์

    ระหว่างที่รอผลพิจารณาคดีเรามาคุยเรื่องอื่นฆ่าเวลาดีไหมครับ นินเทนโดนอกจากถูกฟ้องแล้วก็มีอยู่ไม่น้อยที่เที่ยวไล่ฟ้องชาวบ้านเขา บริษัทพยายามมาหลายปีแล้วที่จะหยุดธุรกิจให้เช่าวิดีโอเกม นินเทนโดลงมือฟ้องผู้ให้เช่าวิดีโอรายใหญ่ของประเทศที่ชื่อ Blockbuster แถมให้นักล็อบบี้ชื่อแมคซีย์พยายามโน้มน้าวเหล่า สส. ให้ออกกฎหมายต่อต้านการเช่าเกม ในช่วงที่วิ่งเต้นด้านกฏหมายอยู่นั้น นินเทนโดก็เดินหน้าฟ้องร้องและข่มขู่ร้านเช่าเกมเพื่อเป็นการฆ่าเวลา



    [attachment=462:blockbuster-old.jpg]​
    (บน) บรรยากาศของ Blockbuster ในสมัยก่อน​

    ร้านเช่าเกมก็ซื้อเกมจากร้านของเล่นเช่นเดียวกับลูกค้ารายอื่นๆนั่นแหละ เพียงแต่พวกเขาซื้อในปริมาณที่เยอะกว่ากันมาก เด็กๆที่พลาดเกมโปรดไปจึงมักแจ้นไปที่ร้านสไตล์บล็อคบัสเตอร์และเช่ามันกลับมาเล่นที่บ้าน พวกเขาพบว่าสามารถเล่นเกมอย่างมาริโอ้หรือคอนทราจบด้วยเงินไม่กี่ดอลลาร์ แทนที่จะต้องจ่าย 4-50 ดอลลาร์เพื่อซื้อเกมดังกล่าวมาเป็นของตัวเอง เพื่อป้องกันการกระจายเกมไปตามร้านเช่า นินเทนโดแอบแจ้งนโยบายแก่ตัวแทนจำหน่ายอย่างเงียบเชียบว่า ต่อแต่นี้ให้จำกัดการขายเกมต่อลูกค้าหนึ่งคน เช่น ลูกค้าคนหนึ่งจะไม่สามารถซื้อเกมเรื่องเดียวกันได้เกิน 2-4 ตลับ (โดยอ้างว่าต้องเผื่อแผ่ลูกค้ารายอื่นๆบ้าง) ส่วนเกมที่มาจากผู้ถือลิขสิทธิ์นั้นนินเทนโดไม่ได้บังคับ (พูดง่ายๆก็คือ เช่าได้ก็เช่าไป ไม่ใช่เกมของตู) นโยบายนี้ถือว่ามีผลในทางปฏิบัติและถ้าตัวแทนขายรายได้ไม่ทำตามก็ฟันธงได้เลยว่าถูกนินเทนโดตัดเชือกแน่

    ในปี 1987-88 มีคนเริ่มต้นทำธุรกิจให้เช่าเกมของนินเทนโดควบคู่กับการให้เช่าภาพยนตร์ บางร้านมีรายได้ 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดจากการให้เช่าเกมนินเทนโดเพียงอย่างเดียว ร้านส่วนใหญ่อาจมีสัดส่วนของรายได้ไม่มากนัก เช่น 10-18 เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็ยังเยอะอยู่ดีถ้าเป็นเชนรายใหญ่เช่นบล็อคบัสเตอร์ที่มีผลประกอบการถึง 1,500 ล้านดอลลาร์ในปี 1990 แม้บริษัทจะออกมาแถลงว่าผลประกอบการจากการให้เช่าเกมนินเทนโดนั้นมีแค่ 150 ล้าน แต่ทุกฝ่ายเชื่อว่าตัวเลขจริงๆคงสูงกว่านั้นมาก แม้ผู้ให้เช่าวิดีโอเกมจะช่วยกันยืนยันว่าธุรกิจนี้มีแต่ให้ผลดีกับนินเทนโด เด็กๆหรือผู้ปกครองสามารถลองเล่นได้ก่อนที่จะซื้อจริงถ้าชอบมัน แต่นินเทนโดคัดค้าน โฮเวิร์ด ลินคอล์นกล่าวว่าการเช่าเกมนั้น...

    "...มันยิ่งกว่าข่มขืนทางการค้า เราใช้คนตั้งมากมายพร้อมเวลานับพันชั่วโมงบวกเงินอีกเป็นล้านดอลลาร์ในการสร้างเกมมาหนึ่งเกม เราหวังจะเก็บเกี่ยวกำไรจากความเหนื่อยยากนั้น แต่จู่ๆกลับมีห่านจากไหนไม่รู้โผล่มา เขาทำให้เกมของเราเวียนอยู่ในมือคนนับพันโดยที่เราไม่ได้อะไรเลย ผู้ผลิตเกมและนินเทนโดถูกเอาเปรียบ คนที่เช่าเกมพวกนั้นจ่ายอะไรกลับมาให้นินเทนโดหรือบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บ้าง ไม่มีวันเสียล่ะเพื่อนเอ๋ย"

    หลายคนอาจสงสัยว่าการให้เช่าเกมนั้นมันต่างกันตรงไหนกับธุรกิจเช่าภาพยนตร์ โดยทั่วไปกิจการเช่าภาพยนตร์มีตลาดใหญ่โตและทุกฝ่ายก็พร้อมใจให้ความคุ้มครองเป็นอย่างดี บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์หนังจะประเมินว่าเมื่อใดที่หนังเรื่องหนึ่งๆจะได้ฤกษ์เข้าไปสถิตย์อยู่ตามร้านเช่า ซึ่งปกติมักอยู่ที่ 6 เดือนหรือหนึ่งปีนับจากที่หนังเรื่องนั้นลาโรง อย่างไรก็ตาม สำหรับวิดีโอเกม ร้านเช่าและผู้เล่นไม่มีทางอดใจรอให้ถึงหนึ่งปีได้ เพราะพวกเขาจะมุ่งไปที่ร้านค้าเมื่อถึงเวลาที่เกมออกและใช้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เกมยอดฮิตนั้นกลับมา สำหรับร้านเช่าพวกเขาจะโกยเกมกลับร้านให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


    [attachment=468:rental-nes.jpg]​


    นินเทนโดใช้ทุกมาตรการที่จะปฏิเสธการขายเกมให้ร้านเช่าหรือเชนร้านค้าที่มีกิจการคล้ายๆกัน บริษัทบีบคั้นให้ผู้ค้าปลีกทำแบบเดียวกัน ด้วย แต่เมื่อมีผลน้อยมากในทางปฏิบัติบริษัทจึงพยายามเอาเรื่องเข้าสภาคองเกรสและสภาสูงตามลำดับ โดยเข้ากลุ่มกับสมาคมผู้ผลิตซอฟต์แวร์ที่กำลังหาทางยับยั้งการให้เช่าซอฟต์แวร์ทุกชนิด แล้วก็มีบริษัทเช่นไมโครซอฟต์และเวิร์ดโปรเซสซิ่งเป็นแกนนำ

    แต่กำไรจากการให้เช่าเกมนั้นงามเกินกว่าจะมองข้าม ดังนั้น VSDA หรือสมาคมผู้ให้เช่าวิดีโอจึงออกโรงคัดค้านการออกกฏหมายฉบับนี้ โดยใช้ข้อโต้แย้งว่าพวกเขาเห็นด้วยทุกประการกับการให้เช่าซอฟต์แวร์ เพราะแผ่นดิสก์ที่บรรจุซอฟต์แวร์นั้นลูกค้าสามารถเอาไปทำสำเนาได้ง่ายๆ แต่กับวิดีโอเกมที่เป็นตลับนั้นมันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ใช้ทั่วไปจะก็อปปี้ออกมาได้ เพื่อให้กฏหมายฉบับนี้คลอดออกมาให้เร็วที่สุด สมาคมผู้ผลิตซอฟต์แวร์จึงพร้อมใจกันตัดวิดีโอเกมออกจากข้อกำหนด ลินคอล์นกล่าวว่าสมาคม "หักหลังเพื่อเอาตัวรอด" และพยายามดิ้นรนโดยลำพังแต่ก็ต้องพ่ายแพ้ไปในปี 1989

    คำพิพากษาของศาลยังไม่ออกมาสักที และสถานการณ์ก็เลวร้ายได้ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ นินเทนโดกลายเป็นตัวชูโรงเมื่อมีการพูดถึงสงครามการค้าของญี่ปุ่นและสหรัฐ การขอซื้อซีแอตเติล มารีเนอร์สของยามาอูจิกลายเป็นเส้นใยบางๆเส้นสุดท้ายที่ชาวอเมริกันจะทน ฮิโรชิให้สัมภาษณ์ใน New York Times ว่าจริงๆแล้วกลุ่มนักธุรกิจในซีแอตเติลนั่นแหละที่มาขอร้องเขาให้ซื้อเดอะมารีเนอร์ส ผู้ว่าการรัฐและ สว .คนหนึ่งของสหรัฐได้มาปรึกษาเขาว่าเจ้าของมารีเนอร์สจะย้ายทีมไปที่ฟลอริด้า หากต้องการให้ทีมอยู่ที่เดิมก็ต้องมีการประมูลหรือไม่ก็ซื้อทีมเอาไว้ ยามาอูจิต้องการตอบแทนประเทศที่ทำให้เขาร่ำรวยบ้างจึงได้ตอบตกลง แต่การทำตัวเป็นนักสังคมสงเคราะห์ของเขาเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนอเมริกันต้องการ มีฝูงชนรวมตัวประท้วงและตะโกนว่า "เราไม่ต้องการเงินของไอ้ยุ่น!"

    แต่คนอีกกลุ่มกับเห็นในมุมที่ต่างออกไป พวกเขาเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการเบสบอลทบทวนบทบาทของตัวเองรวมถึงการให้สัมภาษณ์ที่เลวร้ายนั่น การต่อต้านยามาอูจิคือพฤติกรรมที่ไม่ยุติธรรมและแบ่งแยกสีผิว ทีมเบสบอลเมเจอร์ลีกต้องการผู้บริหารทีมที่เป็นคนท้องถิ่น อารากาวาเองก็มีสำมะโนครัวอยู่ในซีแอตเติล แล้วมันธุระอะไรที่ต้องมาจำกัดว่าเจ้าของทีมต้องเป็นอเมริกัน ในเมื่อตั้ง 30 ปีมาแล้วที่มีเจ้าของทีมเบสบอลสัญชาติคานาดาอยู่
  23. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    [attachment=470:icon-famicom-control.jpg] 108 Games in One และ Action Replay

    ตลอดปี 1992 ทีมขายของนินเทนโดได้พยายามที่จะจับกุมตลับเกมของปลอมที่ผลิตมาอย่างผิดกฏหมาย บริษัททุ่มเงินนับล้านดอลลาร์เพื่อตามจับผู้ลักลอบจำหน่ายโดยได้ความร่วมมือจากศุลกากรของสหรัฐ มีการเข้าทลายแหล่งลักลอบนำเข้าเกมผิดกฏหมายแหล่งใหญ่ในสะพานเหล็กเอ๊ย... ซานฟรานซิสโก, ชิคาโก้, ซานโฮเซ่, แอลเอ และไมอามี่ ในจำนวนนี้เจ้าของสินค้าผิดกฏหมายรายใหญ่ที่สุดเป็นบริษัทชื่อ United Microelectronics ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์รายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน คดีนี้ใหญ่โตถึงระดับที่จะสร้างความตึงเครียดระหว่างประเทศได้เพราะรัฐบาลไต้หวันถือหุ้นอยู่ในบริษัทนี้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์

    ตลับก็อปของไต้หวันสามารถทะลวงปราการของล็อคเอาท์ชิปได้สบายๆด้วยการน็อคการทำงานของชิป กล่าวคือในตลับเกมจะมีชิปพิเศษซึ่งจะทำงานโดยการปล่อยกระแสไฟสวนเข้าไปขาอีกข้างหนึ่งของล็อคเอาท์ชิป ไฟแรงสูงที่เรียกกันว่า Zap นี้จะน็อคให้ซิเคียวริตี้ชิปมึนงงจนทำงานวนไปวนมาและตัวคำสั่งหายลับไปกับอากาศ (อย่างที่โปรแกรมเมอร์ชอบพูดกัน) ด้วยวิธีนี้ตลับเกมจึงสามารถทำงานกับเครื่อง Famicom หรือ NES ได้โดยไม่ต้องผ่านซิเคียวริตี้ชิป

    พวกเขายังอัดเกมเข้าไปในตลับกว่าร้อยเกม จากนั้นก็ส่งมันออกจำหน่ายทั่วโลกในราคา 50-100 ดอลลาร์ ซึ่งถูกมากๆเมื่อเทียบกับตลับแท้ โดยมากเกมลักลอบนำเข้าพวกนี้มักขายกันตามร้านเล็กๆชานเมือง เฉพาะปี 1991ปีเดียว นินเทนโดอ้างว่าพวกเขาเสียหายมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ และส่วนใหญ่ Rom ที่ใช้กันในตลับก็อปปี้เหล่านั้นผลิตโดย United Microelectronics ที่รัฐบาลไต้หวันหนุนหลังอยู่


    [attachment=471:nes_cnroms.jpg]​
    (บน) กายวิภาคตลับ NES ครับ :)

    นินเทนโดตามล้างตามเช็ดพวกลักลอบนำเข้าเท่าที่จะทำได้ มีการฟ้องร้องในสหรัฐและคานาดามากกว่า 300 คดี แม้ว่ามาตรการเหล่านี้จะได้ผลในสหรัฐ แต่นินเทนโดจนปัญญากับสถานการณ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ร้ายกาจที่สุดเห็นจะเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่นั่นธุรกิจเกี่ยวกับนินเทนโดเป็นของปลอม 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ ลินคอล์นเล่าว่าที่น่าเจ็บใจที่สุดก็คือด้วยค่าแรงที่ถูกมาก พวกผลิตของปลอมได้พากันตั้งโรงงานในจีนโดยใช้ชื่อนินเทนโด ของที่ส่งออกก็ใช้แบรนด์นินเทนโด บริษัทพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลจีนหันมาสนใจแต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นในปี 1992 คณะกรรมาธิการผู้แทนการค้าตกลงใจจะดำเนินการเรียกร้องแทนนิทเทนโด ซึ่งก็ได้ผล ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐถึงกับตึงเครียดขึ้นมาทันที

    ย้อนกลับมาที่อเมริกาบ้าง นินเทนโดหาทางจับกุมบริษัทขายของเล่นในซานฟรานซิสโกชื่อเลวิส แกลลูป ซึ่งข้อหาไม่ใช่การผลิตของเลียนแบบแต่เป็นข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา แกลลูปซื้อลิขสิทธิ์สินค้าต่อจากบริษัทที่อังกฤษและขายมันในนามของ Game Ginie ฮาร์ดแวร์ที่สามารถทำให้ผู้เล่นปรับเปลี่ยนอะไรต่อมิอะไรระหว่างเล่นเกมของนินเทนโด เช่น มาริโอ้สามารถบินได้ พ่นไฟอย่างไม่มีวันหมด หรือเป็นอมตะฆ่าไม่มีวันตายอะไรทำนองนั้น (เด็กๆรุ่นหลังรู้จักมันในนามของ Action Replay มากกว่า)

    โฮเวิร์ดลินคอล์นกล่าวว่ามันเป็นฮาร์ดแวร์ที่ดี แต่เมื่อพิจารณาแล้วนินเทนโดคิดว่ามันเป็นตัวทำลายประสบการณ์ของผู้เล่น เขากล่าวว่า "เครื่องนี้ทำให้มีการแก้ไขโปรแกรม มันไม่เพียงแต่เปลี่ยนการทำงานของเกมนินเทนโด แต่ยังละเมิดลิขสิทธิ์และลดความสนุกสนานของผู้เล่นโดยทำให้เกมง่ายขึ้น..."

    นินเทนโดยื่นสำนวนฟ้องในเดือนมิถุนายน ปี 1990 เมื่อแกลลูปประกาศจะผลิต Game Genie ของตัวเองขึ้นมา ข้อโต้แย้งจากนินเทนโดคือบริษัทซอฟต์แวร์ต้องใช้เงินเป็นล้านๆในการออกแบบเกม ดูว่าควรมีตัวละครเท่าใด มีความสามารถอย่างไรเพื่อให้เกมสมดุลย์และท้าทายผู้เล่น การไปเปลี่ยนองค์ประกอบพวกนี้ถือเป็นการไปทำลายเกมดีๆโดยสิ้นเชิง "คิดง่ายๆ คุณเสียเวลาไปเป็นปีเพื่อสร้าง Super Mario 3 ให้สนุกท้าทาย แต่ผู้เล่นผ่านมันไปได้ทั้งหมดด้วยการขี้โกง ถ้าอย่างนั้นองค์ประกอบของความท้าทายก็จะหมดไป เนื้อหาทางธุรกิจของบริษัทเกมก็คือสร้างความท้าทาย คุณว่ามันใช่ไหมล่ะ?"

    แต่แกลลูปแย้งว่า "การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเกมเป็นเพียงของชั่วคราว เราไม่ได้แก้เกมให้เป็นเวอร์ชั่นใหม่ ผู้บริโภคเค้ามีสิทธิของเค้า นินเทนโดเอาอะไรมาชี้ขาดไม่ให้ผู้บริโภคเล่นเกมที่เขาเสียเงินซื้อมา ตามวิธีที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสม" นินเทนโดขอใช้อำนาจศาลระงับการจำหน่ายเกมจีนี่ ในช่วงพิจารณาคดีเพื่อกดดันแกลลูปแต่ศาลไม่เห็นด้วย หลังพิจารณาคดีอยู่ 2 ปีศาลก็ตัดสินให้แกลลูปชนะ เพราะเกมจินี่ไม่ได้ทำการแก้ไขโปรแกรมใดๆในตลับ แต่ต่อให้ทำได้จริงก็ไม่ผิด เพราะมีหลักของการพิทักษ์สิทธิ์ผู้ซื้อคุ้มครองอยู่ นั่นคือผู้ซื้อมีสิทธิ์จะทำอะไรกับสินค้าที่ตัวเองซื้อมาก็ได้ ตราบเท่าที่มันไม่ไปผิดกฏหมายข้อใดข้อหนึ่งเข้า


    [attachment=469:GameGenies-gg01.jpg]​
    (บน) เกมจินี่สารพัดเวอร์ชั่น และวิธีใช้​

    หุ้นของแกลลูปพุ่งขึ้นอีกทันที 20 เปอร์เซ็นต์ภายในวันพิจารณาคดี ยอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้นอีกหลายสิบล้านเพราะมียอดสั่งจองทันทีหลังประกาศคำพิพากษาถึง 5 แสนชุด สื่อมวลชนออกมาวิจารณ์ว่านี่เป็นการแพ้คดีอย่างหมดรูปครั้งแรกในประวัติศาสตร์นินเทนโด มีโทรศัพท์และการแถลงข่าวแสดงความยินดีกับแกลลูปอย่างไม่ขาดสาย ลินคอล์นยอมรับอย่างขมขื่นว่า "ทุกคนในวงการต่างก็สะใจ เหมือนเห็นก็อตซิลล่าจอมเกเรถูกโบยตี" เขากล่าวเพิ่มเติมว่า "ถ้าเราชนะคดีในศาลอุทธรณ์นะ ผมจะลงทุนเขียนและแถลงข่าวด้วยตัวเอง คอยดูสิ" แต่นินเทนโดก็แพ้คดีในศาลอุทธรณ์อีกเป็นรอบที่สอง

    พูดถึงการก็อปปี้ มีหลายบริษัทในอเมริกาเริ่มนำเอา Zapper Technology ที่คิดโดยบริษัทไต้หวันไปใช้และปรับมันให้ดีขึ้น บริษัทเอวีอีหรือ American Video Entertainment ได้ฟ้องร้องนินเทนโดว่าจงใจดัดแปลงเครื่องรุ่นใหม่ของ NES ให้ไม่สามารถใช้งานกับเกมที่พวกเขาผลิตขึ้นมาได้ (เอวีอีผลิตเกมโดยไม่ได้เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ) ลินคอล์นบอกว่ามันเป็นแค่ความบังเอิญเพราะการปรับเครื่อง NES ก็เหมือนการอัพเกรดเฟิร์มแวร์ที่ทำเพื่อป้องกันตลับลักลอบผลิตจากไต้หวัน ไม่ได้จงใจจะกีดกันใครออกจากวงการ แดน แวน เอลเดอเรนผู้เกลียดชังนินเทนโดให้ความเห็นว่าคราวนี้นินเทนโดตัดสินใจได้ดีแล้ว นั่นอาจเป็นเพราะเขาเป็นวิศวกรผู้รักฮาร์ดแวร์ใดๆราวกับลูกในไส้ แวน เอลเดอเรนระบุว่า Zapper Technology เป็นเรื่องอันตราย วิดีโอเกมไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ถูกไฟช็อต ถึงแม้ว่าอัตราเจ๊งมันจะมีน้อย แต่เจ้าของเครื่องคนไหนล่ะที่อยากโดนแจ็คพ็อตแบบนั้น

    American Video Entertainment ยังพอหาลูกค้าได้จำนวนหนึ่ง เกมของบริษัทได้รับคำชื่นชม เช่น F-15 และ Just Say No (เกมหลังได้รับคำชื่นชมมาก ประโยคเด็ด Just Say No ที่ไม่เอาเหล้าหรือยาเสพย์ติดใดๆเป็นไอเดียที่มาจากนางแนนซี่ เรแกน ภรรยาของอดีตพระเอกหนังชื่อดังและเคยเป็นประธานาธิดีของอเมริกา - โรนัลด์ เรแกน - ) บล็อคบัสเตอร์เป็นลูกค้ารายใหญ่ของเอวีอี เกมของบริษัทส่วนใหญ่ทำรายได้ดี แต่แลกมาซึ่งการลุ้นอยู่ตลอดว่าเมื่อไหร่ที่นินเทนโดจะปรับปรุงฮาร์ดแวร์จนทำให้เครื่อง NES รุ่นใหม่เล่นเกมของพวกเขาไม่ได้อีก

    โฮเวิร์ด ลินคอล์นยังคงอุทิศเวลาตามฟ้องร้องทุกบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของนินเทนโด สอดส่ายสายตาเพื่อดูว่ามีกิจกรรมหรือประดิษฐกรรมอันใดที่เข้าข่ายนั้น จากนั้นก็จะใช้กำลังทรัพย์ที่มีเข้ากดดัน ฟ้องร้อง ตัดตอนปัญหาทุกอย่างตั้งแต่มันยังไม่แตกหน่อ ว่ากันว่ายามาอูจิชื่นชมความเอาจริงเอาจังของลินคอล์นมาก แต่อย่างน้อยยังมีบริษัทหนึ่งที่ลินคอล์นไม่กล้ายุ่ง เป็นบริษัทที่ผลิตเกม NES โดยไม่ผ่านกระบวนการลิขสิทธิ์ของนินเทนโดชื่อ Wisdom Tree ซึ่งทำเกมเกี่ยวกับไบเบิลออกมาเพื่อการศึกษาเสียเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่ Noah's Ark, Baby Moses และ David and Goliath

    เพราะอะไรน่ะหรือครับ? ลองนึกถึงพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ เช่น นินเทนโดฟ้องร้องวัดจานบิน เอ๊ย... นินเทนโดสั่งฟ้องผู้สร้างเกมจากพระคัมภีร์ดูสิครับ แค่นี้ก็ทำให้หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์อย่างบิล ไวท์ฝันร้ายไปนับเป็นปีๆแล้ว
  24. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    Nintendo Drama part XV: From Russia with Love


    [attachment=474:icon-nes-control.jpg] กำเนิด Game Boy

    นินเทนโดเติบโตขึ้นพร้อมๆกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กผู้ชาย ตลาดเริ่มอิ่มตัวจนนินเทนโดจำต้องมองหาลูกค้ากลุ่มใหม่มาเพิ่มด้วย "ลูกค้าของเราส่วนมากอายุ 8 -13 ปี มีอะไรที่มากกว่านี้ไหม? เพราะในไม่ช้าเด็ก 13 ปีก็จะกลายเป็นเด็กอายุ 14 ปีผู้หันไปสนใจอย่างอื่นแทน NES ดังนั้น... ผมว่าเราต้องมองหาลูกค้ากลุ่มอื่นด้วย"

    กุนเปอิ โยโคอิและทีมพัฒนาของเขาได้คลอดฮาร์ดแวร์ชิ้นหนึ่งที่มีคุณสมบัติของ Game & Watch และ Famicom รวมอยู่ด้วยกัน ในแง่ของฟามิคอมมันคือเครื่องเล่นเกมคุณภาพสูงที่สามารถเปลี่ยนตลับได้ ในแง่ของ Game & Watch มันมีขนาดค่อนข้างเล็กและพกพาไปเล่นได้ทุกที่ เจ้าสิ่งประดิษฐ์ใหม่นี้ถูกขนานนามว่าเกมบอย (Game Boy) มันทำงานได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จเท่าที่เครื่องเล่นเกมพกพาเครื่องหนึ่งจะทำได้

    ไม่ค่อยมีคนรู้เท่าไหร่ว่า Sony เองก็ซุ่มพัฒนาเครื่องเล่นเกมพกพาอยู่ น่าเสียดายที่พวกเขาทำออกมาไม่ทันนินเทนโด (ข่าววงในระบุว่าทีมพัฒนาถูกผู้บริหารตำหนิจนน้อยใจพากันลาออกยกทีม) มันก็ตลกดีที่พอย้อนนึกไปแล้ว Sony เกือบได้ Game Man ออกมาฟาดฟันกับ Game Boy ของนินเทนโด แต่ไม่เป็นไรครับ หลายปีให้หลังเราก็เห็นกันอยู่แล้วว่า Sony PSP หรือ Ninten DS ที่เป็นฝ่ายชนะ


    [attachment=475:sony-walkman-od01.jpg]​
    (บน) Walkman Series ที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในหมู่เด็กแนวสมัยก่อน​

    เกมบอยมีขนาดไม่ใหญ่นัก มีหน้าจอเป็น LCD สีเหลืองดำที่ผลิตโดยบริษัทชาร์ป มันถูกวางขายด้วยราคาต่ำกว่าที่ยามาอูจิคิดจะขายค่อนข้างมาก (เขาเคยตั้งราคามันไว้ที่ 100 ดอลลาร์) อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเกมบอยทำงานได้ค่อนข้างดี ดังนั้นการเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กพอๆกับขนมปังกรอบและมีราคา 30 ดอลลาร์นั้น จึงเป็นไปได้ที่จะมีตลาดเฉพาะตัวของมันที่มีขนาดไม่เล็กนักเกิดขึ้น

    มีคำวิพากษ์วิจารณ์ออกมาเยอะอยู่เหมือนกันว่าทำไมไม่ใช้จอสี ทีแรกโยโคอิก็ตั้งใจอย่างนั้นแต่ยามาอูจิเป็นคนสั่งให้ใช้จอขาวดำเพื่อเป็นการลดต้นทุน การตัดสินใจดังกล่าวทำให้สามารถขายเกมบอยได้ในราคาต่ำแถมทำงานได้ประทับใจผู้เล่นมากกว่า จอสีในยุคนั้นต้องใช้ถ่าน AA ตั้งแต่ 4-8 ก้อน (ส่วนเกมบอยใช้ 2 ก้อน) ผู้เล่นที่เห่อเกมมือถือจอสีก็ต้องเหนื่อยหน่อยเพราะมันบริโภคถ่านเหลือเกิน อีกประการ ถ้าต้องการลดต้นทุนโดยใช้จอสีคุณภาพต่ำ จะเกิดปัญหาขึ้นคือไม่สามารถมองหน้าจอชัดในที่สว่างมากๆ (ปัญหาเรื่องถ่านกับจอพร่าผมเจอมาแล้วตอนที่ซื้อ Game Gear)

    คู่แข่งอย่าง Sega, Atari และ NEC ได้ส่ง Game Gear, Lynx และ PC Engine GT ออกมาสู่ตลาดตามลำดับ พวเขาเยาะเย้ยความกากของหน้าจอเกมบอย แต่กลับขายเครื่องได้น้อยเท่าหอยมดเมื่อเทียบกับที่นินเทนโดขายได้ ที่ญี่ปุ่นเกมบอยประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย และเมื่อ NCL ส่งมันไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐ Toy 'R Us พยายามทุกทางที่จะตะครุบเกมบอยจำนวน 1 ล้านเครื่องในล็อตนั้นเอาไว้ทั้งหมดแต่ไม่สำเร็จ (ทายสิครับ ว่าคราวนี้ใครเป็นคนพูดว่า "เสียใจด้วยเพื่อน เราปฏิบัติกับตัวแทนขายทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน")

    Game Boy ยังทำให้เด็กๆเพลิดเพลินในการเล่นเกมสองคนผ่าน Cable Link สิ่งที่ทำให้นินเทนโดปลาบปลื้มเป็นล้นเหลือคือผู้ใหญ่ต่างหากล่ะที่ชอบเล่นเกมบอยมากกว่า ในญี่ปุ่นนั้นภาพของโอตาคุ เอ๊ย... มนุษย์เงินเดือนที่ใช้เกมบอยเป็นตัวฆ่าเวลาขณะเดินทางสามารถพบเห็นได้ทั่วไป พวกเขาล้วงมันออกเล่นแก้กลุ้มในยามไม่มีอะไรทำ และยัดมันลงกระเป๋าเอกสารก่อนจะเดินทางออกไปทำงานต่อ ในเดือนเมษายน 1991 ประชาชนอเมริกันล้วนอมยิ้มกันแก้มตุ่ย เมื่อหนังสือพิมพ์เอาภาพของประธานาธิบดีจอร์จ บุช (คนพ่อ) กำลังเล่นเกมบอยระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลออกมาตีพิมพ์


    [attachment=473:handheld-lynx.jpg]​
    (บน) เครื่อง Lynx ของอะตาริ (ล่าง) Sega Game Gear และ PC-Engine GT ตามลำดับ​
    [attachment=472:handheld-gg.jpg]​


    เมื่อแรกเห็นเกมตัวนี้ มิโนรุ อารากาวาบอกได้เลยว่ามันต้องขายได้มากกว่าที่ยามาอูจิประเมินเอาไว้ เขาคิดว่าอย่างน้อยมันน่าจะขายได้ซัก 100 ล้านเครื่องก่อนที่จะตกยุคไป อย่างไรก็ตาม เพื่อผลักดันยอดขายให้ถึงขนาดนั้น อารากาวาต้องการสุดยอดแห่งเกมมาเป็นตัวหนุน เขาคิดว่าเขาเจอเกมที่ว่านั้นแล้วในงานแสดงสินค้าเดือนมิถุนายน ปี 1988

    มันเป็นเกมที่แรนดี้ โบรเวลีทจากอะตารินำมาโชว์ เป็นเกมตู้ชื่อ Tetris (เททริส) โบรเวลีทบอกกับเขาว่าเทนเจนได้รับลิขสิทธิ์เกมนี้สำหรับทำเป็นเกมตู้ และมีแผนจะขายต่อมันให้กับ Sega ที่ญี่ปุ่น (Sega วางแผนจะนำเททริสลงในเวอร์ชั่นโฮมวิดีโอเกม แต่ถูกนินเทนโดชิงไป ยังผลให้เกิดความแค้นจากบรรดาแฟนบอย จนทำให้มีแก๊กการ์ตูนจากกรณีนี้โผล่มาบ่อยๆจนถึงปัจจุบัน) โบรเวลีทยังบอกต่อว่า ในส่วนของเวอร์ชั่นโฮมวิดีโอเกมนั้น บริษัท BPS ของเฮนค์ โรเจอร์เป็นคนได้ไป และกำลังจะผลิต Tetris เพื่อจำหน่ายบนระบบฟามิคอมที่ญี่ปุ่น อารากาวาได้ฟังแล้วก็โล่งใจที่ยังไม่มีบริษัทรายไหนถือลิขสิทธิ์เวอร์ขั่นพกพาของเกมนี้อยู่

    เขาสั่งให้ทีมพัฒนาของนินเทนโดทำเกมที่เป็นต้นแบบของเททริสสำหรับเกมบอย ซึ่งผลที่ได้มันสุดยอดกว่าที่คิด Tetris และ Game Boy นั้นราวกับเป็นสิ่งที่เกิดมาคู่กัน บล็อคในเกมมีขนาดใหญ่พอดีที่จะมองเห็นชัดเจนจากหน้าจอของเกมบอย ส่วนตัวเกมที่ไม่มีอะไรซับซ้อนกลับเล่นแล้วติดเกินคาด อารากาวาเชื่อว่านี่คือสุดยอดของเกมพัซเซิลที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกแพลตฟอร์มอย่างแท้จริง "เราต้องได้เกมนี้" เขาประกาศ

    ทนายของนินเทนโดได้ติดตามเรื่องเพื่อขอซื้อลิขสิทธิ์เกมเททริส แต่กลับไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นเจ้าของมันหรือควรไปซื้อที่ไหนกับใคร ข้อมูลเท่าที่ได้บอกว่า Atari ซื้อลิขสิทธิ์เกมต่อจากมิเรอร์ซอฟต์ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ในลอนดอน (ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Miror Soft คือกลุ่มบริษัทของ Maxwell Communications) มิเรอร์ซอฟต์อ้างว่าพวกเขาได้ลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องมาจากผู้คิดค้นเกมในรัสเซีย ข้อมูลที่ได้มีอยู่แค่นั้น อารากาวารู้สึกถึงพิรุธบางอย่างเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เกมนี้ เขาตัดสินใจที่จะส่งตัวแทนไปยังสหภาพโซเวียตรัสเซีย (สมัยนั้น) เพื่อหาทางติดต่อโดยตรงกับใครก็ตามที่เป็นคนสร้างเททริสขึ้นมา
  25. Sonic

    Sonic Editor

    EXP:
    349
    ถูกใจที่ได้รับ:
    13
    คะแนน Trophy:
    18
    [attachment=480:tetris-icon-04.jpg] บิดาแห่ง TETRIS

    อเล็กเซ พาจินอฟ (Alexey Pazhitnov) เป็นชายตัวโตราวกับหมีขั้วโลก เขาเป็นลูกชายของพ่อซึ่งเป็นนักวิจารณ์ภาพยนตร์และแม่เป็นนักเขียนบทความวารสาร สิ่งที่พาจินอฟโปรดปรานที่สุดตั้งแต่วัยเยาว์คือการได้ดูภาพยนตร์ "มันเป็นทางเดียวที่ทำให้ผมรู้จักโลกภายนอก"

    พาจินอฟเรียนคณิตศาสตร์ได้ดีมากๆ เคยชนะเลิศการแข่งคณิตศาสตร์เยาวชนระดับประเทศ แม้ว่าจะหัวดีแต่พาจินอฟก็เหมือนเด็กชายวัยรุ่นทั่วไป เขาไม่ได้จมอยู่แต่กับกองโจทย์หรือการแก้สมการที่เป็นนามธรรม "ผมก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไปนั่นแหละ ชอบเล่นไพ่ ดื่มเบียร์ ดวดวอดก้า แล้วก็สีหญิง กิจกรรมที่เราชอบมากที่สุดคือการออกไปตั้งแคมป์กลางป่า" หลังจบมหาวิทยาลัยพาจินอฟได้งานทำในภาควิชาคณิตศาสตร์ของสถาบันการบินแห่งมอสโคว์ เขาสนุกกับงานสอนจนกระทั่งวันหนึ่งที่เขาได้รับคำสั่งให้ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อช่วยวิจัยโจทย์คณิตศาสตร์ พาจินอฟพบว่า Computer เกิดมาเพื่อคณิตศาสตร์สมชื่อของมัน "เจ้าคณิตกรณ์ตัวร้ายเป็นอาวุธสุดยอดสำหรับสาขาวิชาของเรา ผมเริ่มต้นทำทุกอย่างเท่าที่คอมพิวเตอร์จะทำได้ ไล่ตั้งแต่การเขียนโปรแกรม การสร้างลอจิคทางคณิตศาสตร์ และอื่นๆ"

    ความลุ่มหลงในคอมพิวเตอร์ทำให้พาจินอฟได้งานใหม่ที่ Academic of Sciences ในมอสโคว์ ใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนกับเครื่อง Elektronica 60 ซึ่งเป็นไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นพระเจ้าเหาของรัสเซีย หัวข้อที่พาจินอฟโปรดปรานเป็นพิเศษคือปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เขาใช้เวลาว่างสร้างเกมพัซเซิลขึ้นมาเกมหนึ่ง เกมที่แสนจะธรรมดาแต่ประจุเอาไว้ด้วยปรัชญาทางคณิตศาสตร์แบบสุดยอด


    [attachment=477:inventor-of-Tetris.jpg]​
    (บน) Alexey Pazhitnov ผู้คิดค้นเกมเททริสจากทฤษฎีทางคณิตศาสตร์​

    พาจินอฟใช้แนวคิดแบบโพลิมิโนส์ (polyominoes) ซึ่งเป็นพัซเซิลทางเราขาคณิตของนักคณืตศาสตร์อเมริกันชื่อ Solomon W. Golomb ลักษณะของมันคือการเอาพัซเซิล 4 เหลี่ยมจำนวน 5 ชิ้นมาต่อกันให้เกิดรูปเหลี่ยมได้หลายรูปแบบ (เช่น เส้นตรง ตัวแอล ตัวที) เขาได้ดัดแปลงเพื่อสร้างรูปแบบที่เรียกว่าแพนโทมิโนส์อย่างง่ายๆ และลงเอยด้วยการใช้ชิ้นส่วนเพียง 4 ชิ้น (แทนที่จะเป็น 5 ชิ้น) เพื่อสร้างรูปเรขาคณิตแบบต่างๆ เขาตั้งชื่อเกมนี้ว่า Tetris อันมาจากคำว่า Tetra ซึ่งแปลว่า 4

    พาจินอฟยังอาศัยทฤษฎีจิตวิทยาที่ว่ามนุษย์สามารถใช้สัญชาติญาณเรื่อง 7 หลักขึ้นมาได้โดยไม่ต้องคิด (ลองนึกถึงมนุษย์เราที่สามารถจำหมายเลขโทรศัพท์ หรือรหัสนักศึกษา 7 หลักได้ แต่จะมีปัญหาถ้าจำนวนหลักไม่เป็นไปตามนั้น) พาจินอฟออกแบบให้เกมของเขามีรูปทรงเรขาคณิตที่สร้างจากสี่เหลี่ยม 4 ชิ้นอยู่ 7 แบบที่ไม่ซ้ำกัน ด้วยข้อสันนิษฐานทางจิตวิทยา ปฏิกิริยาของผู้เล่นส่วนใหญ่ต่อรูปทรงเหล่านั้นจะเป็นไปโดยธรรมชาติแบบไม่ต้องคิด เป็นเกมที่ผู้เล่นต้องตอบสนองกับมันโดยสัญชาติญาณอัตโนมัต ิและสะท้อนความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้เล่นได้เป็นอย่างดี

    แรกเริ่มเดิมทีเขาสร้างบล็อคในเกมเททริสด้วยเครื่องหมายวงเล็บเหลี่ยม (เพราะ Electronica 60 ไม่มี Graphic Mode) แต่เขารู้ดีว่าเกมนี้จะสมบูรณ์ขึ้นถ้าแทนที่ text เหล่านั้นด้วยภาพจริงๆ เขาจึงขอความร่วมมือจากโปรแกรมเมอร์หนุ่มน้อยชื่อเกอราซิมอฟ (หรือ Vadim Gerasimov) เพื่อปรับเททริสให้สามารถเล่นกับเครื่อง PC IBM ได้ เมื่อปรับปรุงเกมเสร็จแล้วเขาได้ copy เกมใส่แผ่นดิสก์เพื่อแจกให้เพื่อนๆในศูนย์ฯให้ทดลองเล่น แล้วก็เผื่อแผ่ไปยังสถาบันจิตวิทยาของเพื่อนเขาด้วย ไม่ช้าไม่นานงานของทั้งสองสถาบันก็ไม่เดินหน้าไปไหนเพราะพนักงานมัวแต่เอาเวลามาเล่น Tetris พาจินอฟได้ขอสำเนาเกมทั้งหมดคืนเพื่อที่จะเอามันไปทำลายทิ้ง แต่สายไปเสียแล้ว ตอนนี้ทั้งมอสโคว์ติดเกมนี้เสียยิ่งกว่าคนติดยา

    พาจินอฟวางมือจากเททริสและทำงานวิจัยของเขาไปเรื่อยๆ หัวหน้าของเขาได้เรียกเขาเข้าไปพูดคุยว่าควรจะทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับประดิษฐกรรมที่เยี่ยมยอดอย่างเททริส เขาเศร้าใจที่เห็นคนส่วนใหญ่เล่นเกมๆนี้ แต่ก็เรียกมันว่าเกมปัญญาอ่อน "เราไม่มีกฏหมายลิขสิทธิ์" พาจินอฟกล่าว "ถึงอยากมีก็มีไม่ได้ เพราะแน่นอนอยู่แล้วว่าประเทศสังคมนิยมอย่างเรานั้น ประชาชนจะทำทุกอย่างเพื่อส่วนรวม เราทำอะไรเพื่อหาประโยชน์เข้าตัวเองไม่ได้" แต่ทั้งคู่ยังเห็นพ้องต้องกันอยู่อย่างหนึ่งว่า ควรเผยแพร่ Tetris ออกไปเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศชาติ

    วิคเตอร์ บรียาบริน หัวหน้าของพาจินอฟได้ส่งสำเนาของเกมดังกล่าวไปยังศูนย์คอมพิวเตอร์ในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ที่ซึ่งเป็นเสมือนประตูเชื่อมต่อการค้าขายซอฟต์แวร์ระหว่างโลกทุนนิยมกับโลกสังคมนิยม และโรเบิร์ต สไตน์ผู้บริหารของบริษัทอันโดรเมดาซอฟต์จากอังกฤษได้เห็นเกมนี้เข้าโดยบังเอิญ



    [attachment=479:tetris-icon-03.jpg] พัซเซิลแห่งลิขสิทธิ์

    สไตน์ทำงานอยู่ในกรุงลอนดอนแม้ว่าเขาเป็นคนฮังกาเรียนโดยกำเนิด เขาเริ่มต้นโดยการขายฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ให้กับแฮรอดส์และห้างใหญ่อื่นๆในอังกฤษ ในปี 1982 บริษัทซอฟต์แวร์ในฮังการีขอให้สไตน์ช่วยเป็นตัวแทนจำหน่ายเพื่อนำเข้า-ส่งออกสินค้าทาง ICT จากฮังการีสู่ประเทศอื่นๆ เขาจึงตั้งบริษัท Andromeda Software Publisher ขึ้น สไตน์ส่งเครื่องคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์จากฝั่งอังกฤษเข้าไปในฮังการี และมองหาแอพพลิเคชั่นดีๆราคาถูกจากฮังการีมาทำเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษแล้วขายแบบเอากำไร จากธุรกิจนี้เองที่สไตน์ได้เริ่มมีสายสัมพันธ์กับมิเรอร์ซอฟต์ บริษัทขายซอฟต์แวร์ของกลุ่มเงินทุนยักษ์ใหญ่ที่ชื่อแม็กซ์เวล

    ในเดือนมิถุนายน 1986 สไตน์ได้เห็น Tetris เข้าด้วยความบังเอิญ (และปรากฏว่าหลังจากทดลองเล่น สไตน์ถึงกับหยุดเล่นมันไม่ได้) จากการสอบถามเขาได้ข้อมูลมาว่าเกมดังกล่าวนี้มาจาก Academic of Sciences ในรัสเซีย นอกจากเวอร์ชั่น IBM PC แล้ว สไตน์ได้เห็นเกมเดียวกันบนเวอร์ชั่นของเครื่อง Commodore64 และ Apple II อีกด้วย แต่นั้นไม่ใช่ฝีมือของพาจินอฟและเกอราซิมอฟ มันเป็นเพียงเวอร์ชั่นที่โปรแกรมเมอร์ชาวฮังกาเรียน port มันออกมาเพื่อให้เล่นเพิ่มเติมได้บนเครื่องที่กล่าวมาเฉยๆ สไตน์บอกว่าเขาจะซื้อลิขสิทธิ์ของเวอร์ชั่น PC นี้จากรัสเซีย และจะจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้สำหรับ Commodore64 และ Apple II ที่โปรแกรมเมอร์จากประเทศฮังการรีทำการพอร์ทมา


    [attachment=478:tetris-dos-1986.jpg]​
    (ซ้าย) Tetris Dos version เกมที่ทำให้ผมผ่านวันคืนที่ต้องจากบ้านเกิดในช่วงฝึกงานมาได้ มันนานขนาดนั้นเลย...​


    สไตน์เสนอขายลิขสิทธิ์ให้มิเรอร์ซอฟต์ในอังกฤษและบริษัทสเปคตรัม โฮโลไบท์ (Spectrum HoloByte) ในอเมริกา ในการเจรจานั้นระบุว่าลิขสิทธิ์ที่พวกเขาจะได้รับครอบคลุมทุกเวอร์ชั่นเว้นเสียแต่การทำเป็นเกมตู้และเกมพกพา เขาส่งข่าวให้ทางรัสเซียทราบเรื่อง โดยโน้มน้าวว่ารัสเซียจะได้ส่วนแบ่งถึง 75 เปอร์เซ็นต์จากทุกๆบาทที่สไตน์ขายเททริสได้ ทีมรัสเซียพอใจกับข้อเสนอดังกล่าวแต่ขอร้องให้ข้อตกลงนี้ครอบคลุมเฉพาะ Tetris ที่ใช้เล่นกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น ลิขสิทธิ์ในเวอร์ชั่นอื่นขอให้มีการเจรจาเพิ่มเติมในภายหลัง พาจินอฟให้สัมภาษณ์ในภายหลังว่าคำว่าพอใจของทางรัสเซียไม่ได้หมายถึงการเริ่มต้นสัญญา เพราะยังไม่มีเอกสารอะไรที่เป็นทางการส่งมาด้วยซ้ำ ความหิวเงินของสไตน์ทำให้เขาเริ่มต้นทำอะไรบางอย่างที่พาจินอฟไม่สามารถให้อภัยได้

    โรเบิร์ต สไตน์ลงทุนเดินทางไปที่รัสเซีย มีการเจรจาต่อรองเกิดขึ้น และในเมื่อรัสเซียไม่เคยเจรจาซื้อชายลิขสิทธิ์การต่อรองจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า มีคำถามเกี่ยวกับแนวปฏิบัติยิงมาอย่างไม่รู้จบ ทางรัสเซียจับไต๋ได้ว่าสไตน์ต้องการเกมนี้จนใจจะขาดจึงจงใจถ่วงเวลาเพื่อโก่งค่าตอบแทน โดยหารู้ไม่ว่าสไตน์ก็วางแผนขั้นที่สองด้วยการคิดจะขโมยเกมนี้อยู่เหมือนกัน ถ้าการเจรจาซื้อลิขสิทธิ์จบลงด้วยความล้มเหลว สไตน์จะบอกกับบริษัทที่ซื้อเกมนี้ไปว่ามันถูกคิดค้นจากโปรแกรมเมอร์ชาวฮังการี อเล็กเซ พาจินอฟผู้อยู่หลังม่านเหล็กไม่มีทางจะร้องแรกแหกกระเชออะไรได้แน่นอน ภายหลังสไตน์ได้ให้สัมภาษณ์ว่าความผิดครั้งใหญ่หลวงที่สุดในชีวิตของเขาก็คือการไปขอซื้อลิขสิทธิ์เททริสนี่แหละ "ต่อให้เราไม่ซื้อรัสเซียก็ทำอะไรเราไม่ได้ พวกเขาไม่สามารถเอาผิดอะไรกับเราเพราะไม่เคยมีกฏหมายหรือแนวปฏิบัติมารองรับ!"

    แต่สายไปแล้วสำหรับแผนชั่วๆ เพราะมิเรอร์ซอฟต์และสเป็คตรัม โฮโลไบต์ซึ่งเล็งเห็นความสุดยอดของเกมนี้ได้ตามกลิ่นไปจนเจอแหล่งกำเนิดแล้วเหมือนกัน สไตน์ได้เซ็นสัญญาขายเกมให้กับบริษัททั้งสองโดยมีลิขสิทธิ์ครอบคลุมในอังกฤษและอเมริกาตามลำดับ ในสัญญาระบุว่าลิขสิทธิ์ Tetris นั้นเป็นของเวอร์ชั่น PC และคอมพิวเตอร์อื่นๆ สไตน์ลงมืออย่างอาจหาญในการขายเกมดังกล่าวทั้งที่เขายังไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายกับทางรัสเซียเลยด้วยซ้ำ

    ส่วนที่รัสเซีย พาจินอฟถูกเรียกตัวไปพบผู้อำนวยการอเล็กซานเดอร์ อเล็กซินโค (ผู้มีชื่อเล่นที่น่ารักน่าชังว่าซาช่า) อเล็กซินโคตำหนิพาจินอฟและทีมว่ากระทำการไปโดยขาดความรอบคอบ พวกเขาทำงานให้กับสถาบันการศึกษาซึ่งตามกฏหมายรัสเซียแล้วห้ามมิให้กระทำการใดๆเพื่อการค้าเชิงพาณิชย์ พาจินอฟไม่ได้ถูกเอาผิดเพราะถือว่าทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ (หรือไม่ก็เอาผิดไม่ได้ เพราะตอนนี้ชื่อของพาจินอฟเป็นที่กล่าวขวัญถึงทั่วทั้งยุโรปไปแล้ว) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ของโซเวียตจะทำการยกเลิกสัญญาฉบับนี้ ละทางรัฐบาลจะเป็นผู้ขาย Tetris ให้กับนานาประเทศด้วยตนเอง ซึ่งพาจินอฟก็รับคำด้วยความโล่งอกที่เรื่องยุ่งยากพ้นจากเขาไปได้เสียที

    แต่สไตน์ถลำลึกด้วยการขายเททริสให้กับบริษัทอื่นๆไปเสียแล้วนี่สิ เขาพยายามเอาผลประโยชน์กลับคืนมาด้วยการเขียนจดหมายร้องเรียนถึงรัฐบาลโซเวียตอย่างระมัดระวัง ระบุว่าโซเวียตจะต้องเสื่อมเสียชื่อเสียอย่างร้ายแรงที่เพิกถอนสิทธิ์ทางการค้าเสรีในจังหวะที่ต้องขอความร่วมมือจากนานาประเทศแบบนี้ เขาเขียนชี้นำว่าเกมของพาจินอฟจะเป็นทูตแห่งสันติภาพที่จะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์สองซีกโลกหลังสงครามเย็น หลังทบทวนอย่างรอบคอบ โซเวียตมอบหมายให้หน่วยงานชื่ออิเล็กโทรนอร์กเท็คนิก้า (Elektronorgtechnica) หรืออีลอร์ก (Elorg) เป็นคนเข้ามาจัดการเรื่องขายลิขสิทธิ์เททริสให้กับสไตน์

    โดยทั่วไปบริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์ต้องจ่ายเงินก้อนโต ดังนั้นเมื่อทุกอย่างเรียบเร้อยแล้วพวกเขาจะหาทางขายมันให้ได้มากที่สุดเพื่อถอนทุนคืน เฮนค์ โรเจอร์แห่งบริษัท BPS เห็นเกมนี้ในเวอร์ชั่นของสเป็คตรัม โฮโลไบท์จึงขอซื้อลิขสิทธิ์สำหรับ PC และโฮมวิดีโอเกมเพื่อนำมันไปจำหน่ายในญี่ปุ่น



    [attachment=476:Henk-Alexey-h01.jpg]​
    (บน) โรเจอร์และพาจินอฟ ผู้กลายมาเป็นเพื่อนรักกันในที่สุด​

    ลูอี้ กิลแมนผู้บริหารของสเป็คตรัม โฮโลไบท์ได้โทรไปหาจิม แมคโคโนชี่แห่งมิเรอร์ซอฟต์เพื่อแจ้งข่าวดีว่าขายเททริสได้ แมคโคโนชี่ตกใจสุดขีดและบอกว่าเป็นไปไม่ได้เพราะเขาเพิ่งขายลิขสิทธิ์ให้กับอะตาริไปเมื่อวานนี้เอง เขาไม่อยากมีเรื่องกับผู้บริหารสุดเขี้ยวที่ชื่อฮิเดะ นากาจิมะ เพราะหมอนั่นกำลังวางแผนที่จะเอาเททริสไปทำตลาดต่อในญี่ปุ่น

    แมคโคโนชี่พยายามกล่อมลูอี้ให้ตัดใจเสียจากเรื่องนี้ เพราะการขายลิขสิทธิ์เททริสให้กับอะตารินั้นผ่านการเห็นชอบจากสเปนเซอร์ แม็กซ์เวล ผู้เป็นนายใหญ่ของทั้งมิเรอร์ซอฟต์และสเป็คตรัม โฮโลไบท์ ทั้งคู่ทราบดีว่าถ้ามีข้อขัดแย้งแล้วทางแม็กซ์เวลจะเข้าข้างใคร เพราะเควิน แม็กว์เวลลูกชายของประธานบริษัทคือผู้บริหารของมิเรอร์ซอฟต์ ลูอี้ไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้จึงได้โทรไปขอโทษขอโพย เฮสค์ โรเจอร์ด้วยตนเอง

    โรเจอร์ไม่คิดว่าจะมีใครรับมือด้วยยากกว่ายามาอูจิ เขาจึงลงทุนติดต่อกับฮิเดะ นากาจิมะโดยตรง หลังจากจ่ายเงินก้อนใหญ่แล้วเขาก็ได้ลิขสิทธิ์เวอร์ชั่นโฮมวิดีโอของเททริส วึ่งทำยอดขายได้มากกว่า 2 ล้านชุด

Share This Page